สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ว่า นายเฉินหมิง นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยขั้นสูงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีความดันสูงในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า หลุมอุกกาบาตดังกล่าว ตั้งอยู่บนยอดเขาไป๋จีเฟิง ของวนอุทยานแห่งชาติไป๋จีเฟิง เมืองทงฮว่า ของมณฑลจี๋หลิน มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1,400 เมตร รูปทรงวงแหวน และความสูงแตกต่างกันราว 400 เมตร เมื่อวัดจากขอบสูงสุดไปยังขอบต่ำสุด


คณะนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า หลุมอุกกาบาตดังกล่าว ก่อตัวจากการพุ่งชนของสะเก็ดดาวขนาดใหญ่หลังยุคจูราสสิก ถือเป็นคำอธิบายการกระจายตัวของเศษหินจำนวนมากบนยอดเขาไป๋จีเฟิง โดยเศษหินเหล่านั้น ประกอบด้วยหินทรายเป็นส่วนใหญ่ และหินแกรนิตเป็นส่วนน้อย


นอกจากนั้น การก่อตัวของหลุมอุกกาบาตนี้ ยังเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศดั้งเดิมของภูเขาไป๋จีเฟิง แปรเปลี่ยนส่วนยอดเป็นยอดเขาสองชั้น ที่มีระดับความสูง 1,318 เมตร และ 1,300 เมตร


นายเฉินกล่าวเสริมว่า ดาวเคราะห์น้อยส่วนมากพุ่งชนพื้นผิวโลก ก่อให้เกิดหลุมอุกกาบาตรูปทรงถ้วยชามหรือที่มียอดตรงกลาง ส่วนการค้นพบครั้งนี้ มอบมุมมองใหม่ต่อการสำรวจกลไกการก่อตัวของหลุมอุกกาบาต และการแปรสภาพจากแรงกระแทกในภูมิประเทศ และภูมิทัศน์หายาก.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA