เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่สวนนงนุชพัทยา จ.ชลบุรี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดประชุมผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหาร สพท. ว่า ขอฝากนโยบายของตนให้ ผอ.สพท. และผู้บริหารสถานศึกษานำสู่การปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นนโยบายลดภาระครู นักเรียน และผู้ปกครอง การเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สินครู ซึ่งนโยบายเรียนดีมีความสุข คือ ความสุขของครูและนักเรียน เพราะการเรียนที่มีความสุขไม่ใช่แค่ทำให้เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่รวมไปถึงอนาคตของเด็กที่มีความสุขด้วย นอกจากนี้ อยากฝากให้ครูได้เข้าไปกรอกแบบสอบถามว่าอยากให้ตนทำนโยบายใดบ้างที่เร่งด่วนและมีความสำคัญ และอยากให้ช่วยเหลือปัญหาของครูในด้านไหน หรือนโยบายใดที่ควรปรับปรุงแก้ไขต่อไป รวมถึงอยากให้ครูและผูับริหารทุกคนได้รักในวิชาชีพของตัวเอง เพราะหากมีความรักในวิชาชีพแล้ว ก็จะทำงานในหน้าที่ได้อย่างมีความสุข ทั้งนี้ ขอฝากให้ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ไปจัดทำแผนปฏิบัติการตามนโยบายของตนที่ได้สั่งการเอาไว้ด้วย

“ผมได้ดูนิทรรศการความสำเร็จ 2 ทศวรรษ สพฐ. สานต่อพื้นฐานการศึกษา พัฒนาอนาคตเด็กไทยแล้วถือเป็นนิทรรศการที่ดี ผมขอชื่นชมแต่นิทรรศการมีหลายอย่างมากทำให้ผมชมไม่ทั่วถึง ดังนั้นฝากผู้เกี่ยวข้องได้นำผลงานนิทรรศการต่างๆ เหล่านี้ใส่ไว้ในแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น ยูทูบ เป็นต้น เพื่อที่ผมจะใช้เวลาว่างมานั่งเปิดรับชม และให้คนทั่วไปได้เห็นและนำไปต่อยอดขยายผลได้” รมว.ศธ. กล่าว

ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ได้มีนโยบายที่จะลดภาระครู นักเรียน และผู้ปกครอง และขอให้ ผอ.สพท.ทุกคน ได้นำนโยบายของ รมว.ศธ. ลงสู่การปฏิบัติด้วย ซึ่งที่สำคัญคือการนำหลักอริยสัจสี่ มาใช้ในการดำเนินชีวิต เพราะเป็นหลักในการดำเนินชีวิตที่แก้ปัญหาต่างๆ ได้ ส่วนเลขาธิการ กพฐ. คนใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าแทนตน เนื่องจากจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้นั้น ตนมองว่า สพฐ. เป็นองค์กรขนาดใหญ่ หากไม่ได้บุคคลที่เข้าใจงานก็ต้องมานั่งเรียนรู้งานกันใหม่ และผลกระทบที่จะตามมาคือความล่าช้าไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นหากได้เลขาธิการ กพฐ. ที่มีต้นทุนมีความเข้าใจก็จะต่อยอดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ เพราะเราเจอวิกฤติทางการศึกษาจากสถานการณ์โควิดที่สูงมาก หากจะต้องมาจมกับการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกทิศทางจะเป็นปัญหาภายหลังได้ ทั้งนี้หากไม่ใช่ลูกหม้อของ สพฐ. ก็ต้องมีความเข้าใจงานด้วย ไม่ใช่มาดำรงตำแหน่งแล้วจับวางงานไม่ได้ หรือต้องขอใช้เวลาศึกษา 1 ปี แบบนี้จะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการอย่างแน่นอน

“ผมขอไม่ฝากอะไรกับเลขาธิการ กพฐ. คนใหม่ แต่ผมห่วงเรื่องการพัฒนาการศึกษามากกว่า โดยเฉพาะกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปัญหาสุขอนามัยนักเรียน ปัญหาสังคม เพราะทุกวันนี้เด็กต้องเผชิญกับภัยความรุนแรงทุกรูปแบบ ซึ่งเราจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร ทั้งนี้เราจะต้องทำให้เด็กมีความสุข ครูมีความสุขก่อน พร้อมกับติดอาวุธทางปัญญาให้แก่ผู้เรียนด้วย เพื่อให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็นและมีทักษะชีวิตในการเอาตัวรอดจากสังคมได้” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว