การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อน นับเป็นพลังสำคัญการพัฒนาที่ยั่งยืน หากโฟกัสมิติสังคม “Sustainable Daily” คอนเทนต์ใหม่ของเดลินิวส์ซึ่งเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนได้รับเกียรติจาก วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์สะท้อนมุมมองการพัฒนา แนวคิดแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาความเหลื่อมล้ำและความเท่าเทียม การพัฒนาที่เน้นสร้างความสามารถพึ่งพาตนเอง ใช้ศักยภาพของตนเอง และพลังความร่วมมือร่วมกันก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG

กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)ดำเนินการมานับแต่ปี2545 เรามีความตั้งใจที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมและนอกจากการดูแลสวัสดิภาพผู้เปาะบางในส่วนต่างๆ การปรับเปลี่ยนทันยุคสมัย ทันบริบทต่างๆของสังคมในปัจจุบัน ปรับจากสังคมสงเคราะห์ สร้างความสามารถการพึ่งพาตนเองจะเกิดเป็นความยั่งยืน

“ก่อนหน้าก่อนมาอยู่ที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขณะที่อยู่กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเรื่อง SDG ในมิติสิ่งแวดล้อมมีหลายเรื่องที่ขับเคลื่อนภายใต้หัวข้อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) การลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ภาวะโลกร้อน ฯลฯ แต่นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องสำคัญคือ  การปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”

“วราวุธ” กล่าวอีกว่า การปรับตัวในที่นี้คือทั่วโลกมีความกังวล นอกจากการลดสภาวะความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น มนุษย์เราต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ อย่างเช่น ขณะนี้ที่ทุกคนกำลังพูดถึงเอลนินโญ แต่ก็ยังมีลานินญาที่ต้องคำนึงถึง หรือในเรื่องคลื่นความร้อน ช่วงต้นปีหากยังพอจำกันได้ ประเทศไทยเรา โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครมีอุณหภูมิสูงเกือบ 50 องศาเซลเซียส ฯลฯ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือต้องปรับตัว กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบคือกลุ่มเปาะบางทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุฯลฯ ซึ่งก็เป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงพม. เป็นการต่อการทำงานมาในมิติสังคม อีกเสาสำคัญของ SDG ในการพัฒนาประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

“วันนี้เมื่อมีโอกาสเข้ามาทำงาน แกนหลักยังคงเหมือนเดิม แต่เนื้อหา บริบทอาจต้องเปลี่ยน เพราะการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือการทำอย่างไรให้กลุ่มเปราะบางทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการฯลฯ สามารถยืนได้ด้วยตนเอง สามารถเลี้ยงดูตนเองได้ด้วยความสามารถของตนเอง ใช้ศักยภาพของตนเองที่มีอยู่มาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมไทย  

คนไทยเราไม่ว่าจะเป็นเพศใด วัยใด หรือสถานะใดล้วนมีศักยภาพในตัวเอง  หน้าที่ของกระทรวง พม.เราคงไม่ทำงานแต่มิติสงเคราะห์ หัวใจสำคัญ เราจะดึงเอาศักยภาพของคนกลุ่มต่างๆ ขึ้นมาเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาสังคมของเรา”

การให้โอกาสคนทุกคนสามารถยืนได้อย่างมีศักดิ์ศรี

“ในมุมของความเหลื่อมล้ำ ความเท่าเทียม การทำงานช่วยเหลือในแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน หรือภาคใต้ ในความต้องการของแต่ละจังหวัดต่างกันไป มีบริบทของปัญหามีข้อจำกัด มีรายละเอียดความซับซ้อนที่ต่างกัน การทำงานจะต่างกัน โดยปัญหาต่างๆไม่เลือกว่าจะต้องไปยังที่กลุ่มใดก่อน

ปัญหาที่เกิดขึ้นมาพร้อมกัน วันนี้ภายใต้กระทรวงพม.เรามีหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมที่ดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะ กรมที่ดูแลสิทธิสตรีและสถาบันครอบครัว ฯลฯ หน้าที่บทบาทภารกิจของแต่ละกรมจะดูแลกลุ่มต่างๆ ต่างกันไป เราจึงทำงานไปพร้อมกัน ทั้งนี้เพื่อนำพาสังคมไปข้างหน้าด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

การประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ความร่วมมือกันเป็นสิ่งสำคัญ โดยจะเริ่มจากหน่วยงานภายในกระทรวง ทำงานไปด้วยกัน เพราะมิติการทำงานด้านสังคมมีความละเอียดอ่อน มีความซับซ้อน การทำงานด้วยความเข้าใจเห็นใจกันถือเป็นหัวใจสำคัญ

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือหัวใจการทำงาน

“วราวุธ” กล่าวอีกว่าในเรื่องของความยั่งยืนการพัฒนาคน มีแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 น้อมนำเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พึ่งพาตนเอง นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาบริหารจัดการ นำมาดำเนินงานโครงการต่างๆ โดยแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานให้คนไทย ได้เลี้ยงดูตนเองได้ด้วยความสามารถของตนเอง ไม่รอแต่การพึ่งพา รอคนหยิบยื่นปลาให้ 

สิ่งที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสอนและสื่อให้เข้าใจคือ ให้เบ็ดตกปลา ดีกว่าให้ปลา  การสอนอาชีพ สร้างศักยภาพให้กับคนกลุ่มต่างๆเพื่อสามารถเลี้ยงดูตนเอง เลี้ยงดูครอบครัวได้ด้วยศักยภาพของตนเอง แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหนทางแห่งความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญการทำงานของเรา ทั้งนี้คนทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชนผู้สูงอายุ หรือกลุ่มคนพิการมีศักยภาพ ในตัวเอง ไม่มีใครไม่เก่ง ไม่มีอะไรที่คนไทยทำไม่ได้ แต่เราต้องดึงศักยภาพเหล่านั้นออกมา ให้ออกมาเป็นกำลังสำคัญของสังคม 

นวัตกรรม การคิดนอกกรอบร่วมสร้างความยั่งยืน

การทำงานเชื่อมโยงกันหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ฯลฯ เป็นพลังสำคัญเป็นเรื่องที่ดีในการร่วมมือกันพัฒนาขับเคลื่อนในมิติสังคม ช่วยเหลือกลุ่มต่าง ๆ  อีกทั้งเรื่องราวการคิดนอกกรอบสร้างสรรค์เป็นอีกพลังสำคัญเช่นกัน อย่างเช่น การเสริมศักยภาพของคนพิการ พื้นที่แสดงออกอาจลองคิดใหม่ เชิญคนพิการได้แสดงศักยภาพในพื้นที่สยามสแควร์ทั้งเชิญศิลปินร่วมแสดง หรือการสร้างความร่วมมือกับกระทรวงต่าง ๆ ภาคส่วนต่างๆในสังคม ใช้พลังเหล่านี้ขับเคลื่อน โดยเราก็น้อมรับข้อแนะนำต่าง ๆ ที่ประชาชนเสนอมา

ทั้งนี้การทำงานร่วมกัน ประสานงานกันผนวกพลังภาคเอกชน ภาคประชาสังคมเช่นนี้จะทำให้เป้าหมายที่ยากจะไม่ยากเท่าที่คิด จากประสบการณ์ของตนเองพบว่าเมื่อได้จับมือร่วมกันแล้วเดินไปข้างหน้าด้วยกัน ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืน.