สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองกุ้ยหยาง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ว่า ผลการวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับถ้ำซวงเหอ ได้รับการเผยแพร่ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยการสำรวจถ้ำในปีนี้ ดำเนินการโดยสถาบันทรัพยากรภูเขากุ้ยโจว สมาคมถ้ำกุ้ยโจว ตลอดจนคณะนักวิจัยและนักสำรวจกว่า 30 คนจากจีน ฝรั่งเศส อิตาลี และเบลเยียม


ทีมสำรวจถ้ำขุดพบฟอสซิลทางบรรพชีวินวิทยา และวัตถุโบราณทางธรณีวิทยาด้วย จนถึงขณะนี้ นักวิจัยค้นพบฟอสซิลแพนด้ายักษ์แล้ว 40 ชิ้น ซึ่งชิ้นมีความเก่าแก่ที่สุด เป็นของแพนด้ายักษ์ ที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 100,000 ปีก่อน ส่วนชิ้นมีอายุน้อยที่สุด เป็นของแพนด้ายักษ์ ที่มีชีวิตอยู่เมื่อไม่กี่ร้อยปีก่อน


ฟอสซิลดังกล่าวสามารถทำหน้าที่เป็นตัวอย่างที่หายาก ในการทำความเข้าใจกับประวัติวิวัฒนาการทางพันธุกรรม ของประชากรแพนด้ายักษ์ รวมถึงวิวัฒนาการขนาดของแพนด้ายักษ์ ในยุคไพลสโตซีนตอนปลาย (Late Pleistocene)


ก่อนหน้านี้ ข้อมูลจากการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติที่ดำเนินการก่อนปี 2562 ระบุว่า มีการสำรวจถ้ำซวงเหอ คิดเป็นระยะทางยาว 257.4 กิโลเมตร และลึก 665 เมตร


อนึ่ง ถ้ำซวงเหอเป็นถ้ำหินปูนเนื้อโดโลไมต์ยาวที่สุด และมีพื้นที่หินเซเลสไทน์ใหญ่ที่สุดในโลก จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “พิพิธภัณฑ์ถ้ำคาร์สต์ธรรมชาติ” โดยนักวิจัยและนักสำรวจนานาชาติได้ทำการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับถ้ำดังกล่าวมาแล้ว 22 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2531.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA