สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองไท่หยวน ประเทศจีน เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ว่าหญิงแซ่จาง ผู้ดูแลร้านของหวานแห่งนี้ กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกที่ร้านผลิตขนมไหว้พระจันทร์ไส้ทุเรียน โดยมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญการทำขนมไหว้พระจันทร์มาช่วยเหลือ และใช้ทุเรียนหลายสิบกล่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นทุเรียนหมอนทอง จากไทย และทุเรียนมูซานคิง จากมาเลเซีย


ขนมไหว้พระจันทร์ไส้ทุเรียนหมอนทองของร้านของหวานแห่งนี้ มีราคา 18 หยวน ( ราว 90 บาท ) ต่อชิ้น และราคาราว 200 หยวน ( ราว 1,000 บาท ) ต่อหนึ่งกล่องใหญ่


ด้านซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตร จำหน่ายสินค้าขนมไหว้พระจันทร์ไส้ทุเรียนเช่นกัน โดยขนมไหว้พระจันทร์ไส้ทุเรียนทำมือของที่นี่ มีรูปลักษณ์ภายนอกคล้ายขนมเปี๊ยะจีนแบบดั้งเดิม และบนหน้าขนมสีขาวยังประทับตราสีแดงเขียนว่า “ไส้ทุเรียน” ด้วย


นอกเหนือจากขนมไหว้พระจันทร์ทำมืออันมีเอกลักษณ์เหล่านี้แล้ว บรรดาร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตยังจำหน่ายขนมไหว้พระจันทร์จากแบรนด์ชื่อดัง เช่น ขนมไหว้พระจันทร์ไส้ทุเรียนมูซานคิง จากเขตบริหารพิเศษฮ่องกง หรือขนมไหว้พระจันทร์บัวหิมะไส้ทุเรียน จากมณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของจีน


ขนมไหว้พระจันทร์แบรนด์ดังเหล่านี้ยังได้รับความนิยม บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น ขนมไหว้พระจันทร์บัวหิมะไส้ทุเรียน ราคา 298 หยวน ( ราว 1,490 บาท ) ต่อกล่อง บนแพลตฟอร์มซูเปอร์มาร์เก็ตทีมอลล์ มียอดจำหน่ายเกือบ 15,000 กล่อง ในช่วงเกือบ 30 วันที่ผ่านมา


ทั้งนี้ กลุ่มคนวงในอุตสาหกรรมขนมไหว้พระจันทร์มองว่า ความนิยมขนมไหว้พระจันทร์ไส้ทุเรียนสอดคล้องกับกระแส “ทุเรียนฟีเวอร์” ในจีนตลอดหลายปีที่ผ่านมา หลังจีนส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางการค้ากับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน โดยเฉพาะไทยและมาเลเซีย


อาเซียนถือเป็นแหล่งจัดจำหน่ายทุเรียนแห่งหลักของโลก โดยทุเรียนส่งออกจากสิบประเทศอาเซียนคิดเป็นร้อยละ 90 ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมดของโลก เมื่อปี 2565 ซึ่งไทยครองส่วนแบ่งการส่งออกสูงถึงร้อยละ 99 และจีนนำเข้าทุเรียนจากไทยราว 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 109,000 ล้านบาท ) เมื่อปีที่แล้ว


ขณะที่มณฑลซานซีนำเข้าทุเรียนเป็นครั้งแรกในปีนี้ ซึ่งคิดเป็นหนึ่งในสี่ สำหรับปริมาณการค้าของซานซีกับไทย โดยมีการสนับสนุนผู้ประกอบการภายใต้นโยบายสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ( อาร์เซ็ป ) ส่งเสริมสินค้าจากกลุ่มประเทศตามแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ( บีอาร์ไอ ) เข้าสู่ตลาดจีน


ส่วนทางรถไฟจีน-ลาว เกื้อหนุนการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนอย่างมีนัยสำคัญ โดยทุเรียนจากไทยถูกขนส่งถึงมณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของจีน ภายใน 6 วัน และเมื่อเดือนก.ค. ที่ผ่านมา มีการเปิดบริการรถไฟสินค้าผลไม้ห่วงโซ่ความเย็น สายไทย-ลาว-เจิ้งโจว ซึ่งถือเป็นครั้งแรก ที่เจิ้งโจวนำเข้าผลไม้จากอาเซียนผ่านทางรถไฟจีน-ลาว


ปัจจุบัน มณฑลซานซีเดินหน้าส่งเสริมความหลากหลายของสินค้านำเข้าทางราง ขยับขยายเส้นทางขนส่งผลไม้ห่วงโซ่ความเย็น เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคได้ลองลิ้มชิมรสชาติ ความอร่อยของทุเรียน และผลไม้เมืองร้อนอีกหลายชนิดเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน บีอาร์ไอ จะช่วยเกื้อหนุนให้ทุเรียนไทยส่งกลิ่นหอม ขจรขจายไปไกลในหลายเมืองทั่วจีน.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA