สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ว่า นายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี เกี่ยวกับการจัดตั้งพันธมิตรความร่วมมือทางยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ในนาม "ออคัส" ( AUKUS ) ร่วมกับสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย ว่ารัฐบาลวอชิงตันดำเนินการตามแนวทางสากล เพื่อแสวงหาโอกาสในการยกระดับความร่วมมือข้ามภูมิภาคกับประเทศที่อยู่ในอินโด-แปซิฟิก และฝรั่งเศส "มีความสำคัญอย่างยิ่ง" ต่อการขับเคลื่อนนโยบายของสหรัฐในเรื่องนี้
ขณะเดียวกัน บลิงเคนกล่าวด้วยว่า ก่อนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แถลงเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐและฝรั่งเศสหารือ และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันล่วงหน้าแล้ว 1-2 วัน อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในรัฐบาลปารีสกล่าวกับสื่อหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ ว่า ฝรั่งเศสไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อน และ "รู้พร้อมกัน" จากข่าวที่สื่อทุกสำนักเผยแพร่
ด้านนายฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยง รมว.การต่างประเทศของฝรั่งเศส ประณามข้อตกลงถ่ายทอดเทคโนโลยีเรือดำน้ำ ที่ออสเตรเลียจะได้รับความสนับสนุนจากสหรัฐและสหราชอาณาจักร "เป็นการแทงข้างหลัง" และการดำเนินการแบบนี้ "ไม่ใช้วิสัยของพันธมิตร" พร้อมทั้งเปรียบเทียบประธานาธิบดีโจ ไบเดน "ทำตัวเหมือนทรัมป์" หมายถึงอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐคนก่อนหน้า
ทั้งนี้ เลอ ดริยง เปิดเผยด้วยว่า ประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนที่สหรัฐประกาศข้อตกลงออคัส กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมของออสเตรเลีย ยืนยันหนักแน่นกับฝรั่งเศส ว่าข้อตกลงสร้าง "กองเรือดำน้ำ" มูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 1.3 ล้านล้านบาท ) จะเดินหน้าต่อไปโดยไม่มีอุปสรรค หลังลงนามร่วมกันเมื่อปี 2559 และกำหนดส่งมอบเรือดำน้ำลำแรกจากทั้งหมด 12 ลำ คือภายในปี 2570
ขณะที่ นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน กล่าวว่า ออสเตรเลียรับทราบ มีความเข้าใจ และยอมรับกับท่าทีของฝรั่งเศส แต่ท่ามกลางสถานการณ์ในเวลานี้ รัฐบาลแคนเบอร์ราต้องให้ความสำคัญกับ "การรักษาผลประโยชน์ท่ามกลางบริบททางยุทธศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลง".

เครดิตภาพ : AP