ที่สำคัญ!! พรรคเพื่อไทย ที่ขึ้นชื่อว่ามีภูมิด้านเศรษฐกิจธุรกิจ แบบหาตัวจับได้ยาก โดยเฉพาะการรังสรรค์นโยบายด้านเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับตลาดทุนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการไม่จัดเก็บภาษีการขายหุ้นมาโปะรายได้ของรัฐบาล และอีกสารพัดมาตรการ ที่เชื่อว่าตลาดหุ้นจะไม่วูบวาบแน่นอน

แต่…ความหวังของบรรดา “แมงเม่า” บรรดานักลงทุนในตลาดหุ้นไทย อาจต้องเผชิญกับความ “สูญเปล่า” เสียแล้วก็เป็นไปได้ และอาจเป็นไปได้มากอีกต่างหาก !!!

ดี๊ด๊าปรับขึ้นแค่สั้น ๆ

แม้ในช่วงแรก ๆ ที่ คู่แข่งทางการเมือง ไฟแรง มาแรง แซงทางโค้งประเทศไทย อย่าง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ซึ่งในเวลานั้น ยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล “ถูกปัดตก” จากการเข้าโหวตนายกรัฐมนตรี แล้วเปิดช่องให้พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย อย่าง “เศรษฐา ทวีสิน” ขึ้นมาแทนที่ จนท้ายที่สุด…เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 66 ผลการโหวตนายกรัฐมนตรี รอบที่  3 ก็ออกมาตามคาดหมาย!!

จน “เศรษฐา” ได้ขึ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่พลิกโผไปตกอยู่กับใครอื่น ในช่วงเวลานั้น…ตลาดหุ้นไทยก็เริ่มออกอาการ “ดี๊ด๊า” ขยับขึ้นมามากเป็นพิเศษ ประกอบกับบรรดานักลงทุนต่างชาติ ที่ชื่นชอบและแอบเชียร์พรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว  เริ่มทยอยกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยต่อเนื่อง

ทว่า… ความฝัน ความหอมหวลที่เกิดขึ้นนั้น กลายเป็นช่วงเวลาเพียงสั้น ๆ เท่านั้น!!  ท้ายที่สุดตลาดหุ้นไทยกลับดิ่งลง ปักหัวลงแทบทุกวัน

ต้องยอมรับว่าปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวให้นักลงทุนหายใจหายคอกันต่อเนื่องนั้น ไม่ได้เกิดจากการมี “นายกรัฐมนตรีคนใหม่” เท่านั้น ที่ทำให้ดัชนีหุ้นไทยสามารถปรับขึ้นได้ และเป็นการปรับขึ้นเฉพาะในช่วงแรกเท่านั้น เพราะหลังจากนั้น ดัชนีหุ้นไทยก็ผันผวนมาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยบวกอย่างการที่ไทยมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่างเป็นทางการ ไม่สามารถทัดทานแรงเสียดทานจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ มีหลากหลายที่เข้ามากดดันการฟื้นตัวของตลาด ทั้งปัญหาเดิม ๆ ในเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) รวมถึงเงินเฟ้อในต่างประเทศ และข่าวลือเฟดส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงเป็นเวลานาน ที่ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยยังหันหัวปรับลดลงต่อเนื่อง

เผยนโยบายรัฐไม่ชัดเจน

ขณะเดียวกัน หลังจากจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ “เศรษฐา ทวีสิน” นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และยังควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการนั่งควบตำแหน่งเป็นคนแรกของไทย แต่ก็ยังมีหลายปัจจัยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นโยบายรัฐบาล” ที่ไม่ชัดเจน เห็นได้ชัดจากนโยบายหลักอย่างการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต คนละ 10,000 บาท ที่ไม่ชัดเจนในทุกด้าน ทั้งแหล่งเงิน รูปแบบการแจกเงิน ใครบ้างที่จะได้รับเงิน ใครจะเป็นผู้ดำเนินการ  พ่อค้าแม่ขายรายเล็กรายย่อย จะสามารถขึ้นเงินได้หรือไม่ สามารถซื้อสินค้าอะไรได้บ้าง

นักวิชาการเบรกเงินดิจิทัล

เกือบ 2 เดือน กับการเข้ามานั่งตำแหน่งของ “รัฐบาลเศรษฐา 1” แต่ในเรื่องนโยบายหาเสียงหลัก แจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท กลับยังไปไม่ถึงไหน ท่ามกลางเสียงคัดค้านตั้งแต่อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติและบรรดานักวิชาการอีกเพียบ เพราะการใช้เงินอย่างมหาศาลต้องรอบคอบที่สุด อีกทั้งส่งผลต่อภาระหนี้ของประเทศในอนาคตได้ เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอยู่แล้วรัฐบาลจึงไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลขนาดนั้น แต่ควรนำมาใช้สร้างศักยภาพการลงทุนมากกว่า

กราดยิงกระทบท่องเที่ยว

แม้ปีนี้การท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้น โดยตัวเลขล่าสุดมีนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-17 ก.ย. 2566 มากกว่า 19 ล้านคน ช่วยสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวของชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมกว่า 1.3 ล้านล้านบาทแล้ว โดย 5 อันดับแรกที่เข้ามา คือ มาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ อินเดีย และรัสเซีย ทำให้ตั้งแต่ต้นปีหุ้นในกลุ่มท่องเที่ยวกลับขึ้นมาฟื้นตัวมากขึ้นเกือบทั้งหมด ทั้งธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร รวมทั้งสนามบิน และสายการบิน ฉะนั้น จะเห็นว่าการท่องเที่ยวถือเป็นความหวังอันดับต้น ๆ ที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในปีนี้  และเป็นความหวังอันยิ่งใหญ่

แต่ล่าสุด เกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้นจากการกราดยิงกลางศูนย์การค้าชื่อดังเมื่อช่วงวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา จนมีผู้เสียชีวิต 2 คน เป็นชาวจีน 1 ราย เมียนมา 1 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีก 5 ราย ส่งผลให้นักลงทุนพร้อมใจกันเทขายหุ้นในกลุ่มท่องเที่ยวเกือบยกแผง และอาจส่งผลให้หลังจากนี้นักท่องเที่ยวไม่กล้าเดินทางเข้ามาในประเทศไทยอีกระยะหนึ่ง

หวั่นสงครามอิสราเอลยืดเยื้อ

ตามด้วยสงครามอิสราเอลและฮามาส ที่ขณะนี้เริ่มก่อความรุนแรงและลุกลามมากขึ้น ทำให้นักลงทุนทั่วโลกผวาหนัก ย้ายเงินจากสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นไปยังสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ ส่งผลให้ขณะนี้ราคาทองรูปพรรณขึ้นไปกว่าบาทละ 34,000 บาทเป็นที่เรียบร้อย นอกจากนี้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าหากสงครามยังคงยืดเยื้ออาจกระทบการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลาง ส่งผลให้ราคาน้ำมันมีโอกาสปรับตัวขึ้น และเมื่อถึงเวลานั้นกระทบต้นทุนค่าขนส่ง และต้นทุนสินค้าอื่น ๆ ปรับขึ้นตามมา เช่นเดียวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทีนี้เศรษฐกิจทั่วโลกจะระส่ำแค่ไหน ในส่วนของตลาดหุ้นเองก็คงไม่รอด

นอกเหนือจากนี้ “ไส้ใน” ของตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมาจากกรณี “หุ้นมอร์” และ “หุ้นสตาร์ค” ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่สะเทือนความเชื่อมั่นไปทั้งวงการตลาดทุน ทำเอานักลงทุนต่างผวาถอดใจไปเยอะ โดยเฉพาะหุ้นสตาร์คจากหุ้นดาวรุ่งมูลค่าตลาดกว่า 7 หมื่นล้านบาท กลายเป็นหุ้นดาวร่วง แถมยังมีกระบวนการสูบเลือด สูบเนื้อบริษัทมาอย่างต่อเนื่อง จากบริษัทที่มีกำไร กลายเป็นขาดทุนยับกว่าหมื่นล้านบาท ส่วนผู้ถือหุ้นก็ติดลบกว่า 4 พันล้านบาท เรียกว่าผู้เกี่ยวข้องกับหุ้นตัวนี้ ได้รับความเสียหายถ้วนหน้า

ขณะนี้หุ้นทั้ง 2 ตัว ก็ยังอยู่ในกระบวนการของกฎหมายที่ทางดีเอสไอรับไว้เป็นเรื่องพิเศษ ในส่วนของผู้เสียหายยังไม่มีใครได้เงินคืนแม้แต่บาทเดียว ซึ่งในเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ทำให้เห็นจุดอ่อน ข้อบกพร่องของตลาดทุนอย่างชัดเจน และเป็นบทเรียนให้ผู้ดูแลตลาดทุนนำกลับไปเป็นโจทย์ แล้วหาทางอุดช่องโหว่ พร้อมกับหาวิธีเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกันต่อไป

เฟทโก้ขอพบนายกฯ

จากปัญหาที่เกิดกับตลาดหุ้นไทยขณะนี้ ล่าสุด ร้อนถึงสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ เฟทโก้ ร่วมกับ 7 องค์กร ทั้งสมาคมบริษัทจัดการลงทุน, สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย, สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย, สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยเตรียมขอเข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เพื่อหารือในเรื่องการผลักดันและพัฒนาตลาดทุนไทยให้ยั่งยืน

มีการคาดกันว่า จะเข้าพบนายกฯ ได้ตามแผน ไม่เกินกลางเดือน ต.ค. นี้ เพราะมองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยข้อเสนอในการหารือมีทั้งเรื่องบทลงโทษสำหรับผู้ที่ทำการทุจริตผ่านตลาดทุนไทย หลังจากที่ผ่านมาจะเกิดกรณีหุ้นมอร์ และหุ้นสตาร์ค ที่อยากให้มีบทลงโทษสำหรับผู้ที่กระทำผิดที่รุนแรงกว่านี้ พร้อมกับการนำเทคโนโลยีเอไอมาตรวจสอบผู้กระทำผิด

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดทุนในเวลานี้ ถือเป็นโจทย์ใหญ่มากที่รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไข และเรียกความเชื่อมั่นของบรรดานักลงทุนกลับมาแบบด่วนจี๋!!  เพราะไม่ใช่แค่ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบกับตลาดหุ้นไทยเท่านั้น แต่ปัจจัยในประเทศเองก็มีส่วนสำคัญที่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่ขนเงินออกอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปีขนออกไปแล้ว 1.6 แสนล้านบาท ขณะที่ดัชนีหุ้นก็ดิ่งลงเรื่อย ๆ 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา หุ้นไทยก็หลุด 1,400 จุดไปเรียบร้อย และยังเคลื่อนไหวในแดนลบตลอดทั้งวัน แถมระหว่างลดลงต่ำสุด 25 จุด ทำให้ดัชนีหลุด 1,400 จุด ไปอยู่ที่ 1,397.80 จุด ก่อนที่ขยับขึ้นมาเล็กน้อย เนื่องจากเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับวันหยุด และมีเรื่องสงครามอิสราเอล-ฮามาส จึงเห็นแรงขายลดความเสี่ยง ส่งผลให้ ณ เวลา 17.02 น. ดัชนีหุ้นปิด 1,399.35 จุด ลดลง 23.69 จุด หรือ 1.66% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 52,983.02 ล้านบาท ส่วนตลาดเอ็มเอไอปิดที่ 407.88 จุด ลดลง 8.07 จุด หรือ1.94% มูลค่าการซื้อขาย 1,099.40 ล้านบาท

ด้านโบรกเกอร์เองมองว่าตลาดหุ้นไทยยังแกว่งจากสถานการณ์ตะวันออกกลางที่กระทบผลตอบแทนพันธบัตร โดยผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี ปรับขึ้น และสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่มีความรุนแรงสร้างความกังวลต่อมุมมองในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ ที่คาดกันว่าหากกลายเป็นสงครามตะวันออกกลางกับอิสราเอล จะทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น

ส่วนมูลค่าซื้อขายต่อวันยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะตอนนี้ซื้อขายกันแค่ 4-5 หมื่นล้านบาท จากก่อนหน้านี้ซื้อขายอยู่ที่ 6-7 หมื่นล้านบาท ณ เวลานี้ ตลาดหุ้นไทยหืดขึ้นคอ หากไม่รีบแก้ตอนนี้มีหวัง ตลาดหุ้นไทยพังแน่…!!!

หุ้นไทยไร้เสน่ห์

“นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ผู้เชี่ยวชาญตลาดทุนและนักลงทุน บอกว่า 9 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนขายหุ้นไทยไป 1 ล้านล้านบาท ซึ่งโครงสร้างหุ้นวันนี้กับ 10 ปีที่แล้วไม่ได้ต่างกัน ไม่ว่าจะ 10 อันดับแรก หรือ 5 อันดับแรก ก็คล้ายกันทั้งหมด อาทิ ปิโตรเคมี ธนาคารพาณิชย์ มือถือ ค้าปลีก หน้าเดิม ๆ และไม่มีไอเดียการลงทุนใหม่ ๆ อย่างหุ้นเทคโนโลยี ที่มาช่วยทำให้มูลค่าตลาดเพิ่ม อีกทั้งสังคมไทยเด็กเกิดใหม่น้อยลงคนแก่เพิ่มขึ้น ทำให้หุ้นไทยแก่ตัวตามไปด้วย

ทั้งนี้ หากเทียบกับหุ้นในอดีตของสหรัฐอเมริกา ได้พบว่าหุ้น 10 อันดับต้น ๆ แทบจะหายไปหมดแล้ว จึงแสดงให้เห็นว่าหุ้นไทยเริ่มออกอาการ “อิ่มตัว” ในด้านผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน และที่สำคัญ หากหันกลับมามองตัวเลขย้อนหลังกลับไป 5 ปี หุ้นไทยก็เกือบเท่าเดิมที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท ทั้งนี้เมื่อบรรดานักลงทุนต่างชาติเห็นว่าหุ้นไทยและเศรษฐกิจถึงจุดอิ่มตัว จึงทยอยขายออกมาต่อเนื่อง ส่วนนักลงทุนคนไทย ก็มีการรับซื้อหุ้นดังกล่าวทำให้ดัชนีหุ้นยังไม่ปรับลดลง หากเทียบกับสมัยก่อนที่หากเศรษฐกิจเติบโตเร็วแล้วต่างชาติขายออกก็จะเห็นหุ้นได้ปรับลดลงอย่างหนักแน่นอน แต่การที่นักลงทุนไทยยังรับซื้อนั่นเป็นเพราะว่าไม่มีที่ไป และเมื่อแก่ตัวลงมักจะนำเงินมาหารายได้จากตลาดหุ้นที่เป็นความหวังพยุงให้ตลาดหุ้นไทยอยู่ได้

รัฐเกาไม่ถูกกระตุ้นผิด

ไพบูลย์ นลินทรางกูรประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เชื่อว่า ปีนี้สาเหตุที่ตลาดหุ้นไทยไม่หลุดพ้นจากกับดักดัชนี 1,500-1,600 จุด เพราะยังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและนักลงทุนยังไม่มั่นใจนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ เนื่องจากบางอย่างเหมือนเกาไม่ถูกที่คัน ปัญหาหลัก ๆ คือ เรื่องส่งออกสินค้าไม่ได้ไม่มีใครเข้ามาลงทุน และภาคการเกษตรเกิดปัญหา แต่รัฐบาลไปช่วยกระตุ้นการบริโภคที่ขณะนี้ดีขึ้นแล้ว 7-8% เป็นมุมมองไม่ชัดเจน นอกจากนี้แม้มีนโยบายกระตุ้นแต่ยังไม่มีจำนวนเงิน และงบประมาณยังไม่เข้าสู่กระบวนการในรัฐสภา ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร

ทั้งนี้ขั้นตอนต่อไปที่นักลงทุนอยากเห็น คือการที่ภาครัฐเข้ามาแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งอาจมีการออกนโยบายมาแก้ปัญหาทีละเรื่อง เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถกลับไปเติบโตได้ 4-5% อย่างยั่งยืนในระยะยาว เพราะหากมุ่งเน้นเฉพาะลดค่าครองชีพ หนี้เกษตรกร รวมทั้งการแจกเงินเท่านั้น คาดว่าสุดท้ายแล้วจะทำให้ไม่มีเงินนำไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเชื่อว่า สุดท้ายแล้วถ้าสามารถแก้ปัญหาได้ถูกต้อง  ก็จะช่วยทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ต่อไป อย่างกรณีเรื่องของการที่ต้องเร่งในเรื่องของการส่งออกที่เป็นรายได้หลักของประเทศ แต่หันไปดูแลในเรื่องของการกระตุ้นการบริโภค แต่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องของการกระตุ้นบริโภคต่อเนื่องมากขึ้นไปอีก

ลุ้นกำไร บจ.หนุนดัชนี

สมบัติ นราวุฒิชัยเลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน บอกว่า จากผลสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต่อมุมมองการลงทุนไตรมาส 4 ถึงสิ้นปีนี้ ว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยจากนี้ถึงสิ้นปี มองว่าปัจจัยที่มีผลบวกต่อราคาหุ้น ได้แก่ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน รองลงมาคือเศรษฐกิจภายในประเทศ และตามด้วยปัจจัยทางการเมืองในประเทศ รวมถึงเงินทุนจากต่างประเทศที่กลับเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลในด้านลบต่อตลาดหุ้นไทยในขณะนี้ ได้แก่ ปัจจัยด้านการเมืองในต่างประเทศ รองลงมาคือด้านทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ ตามด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจต่างประเทศทั้ง อเมริกา ยุโรป เอเชีย รวมทั้งทิศทางดอกเบี้ยในประเทศ

ทั้งนี้ ในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 66 ดัชนีหุ้นอยู่ในจุดสูงสุดเฉลี่ย 1,619 จุด และจุดต่ำสุดอยู่ที่ 1,468 จุด และคาดว่าเป้าหมายดัชนี ณ สิ้นปี66 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,601 จุด ซึ่งลดลง 34 จุด จากระดับคาดการณ์ครั้งก่อนอยู่ที่ 1,630 จุด แนะนำให้มีเงินสดเงินฝากระยะสั้น 14.80% และมีกองทุนตราสารหนี้ 21.20% ส่วนการลงทุนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงนั้นแนะนำให้แบ่งเงินลงทุนไว้ในหุ้นไทยหรือ 25.68% หุ้นต่างประเทศ 24.12% ทองคำ 7.7% และกองทุนอสังหา 6.5% เป็นต้น ซึ่งจากนี้ไปก็ต้องติดตามสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด.

ทีมเศรษฐกิจ