เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้หารือนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง รวมถึงลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะการปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ลดขั้นตอนและมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ซึ่งในขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการใช้เกณฑ์การประเมินรูปแบบเดียวกับครูทั้งประเทศ คือ การประเมิน ว PA (Performance Agreement) คือ การประเมินผลการปฏิบัติงานโดยการทำข้อตกลงการปฏิบัติงาน ซึ่ง สพฐ. ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากหลายฝ่าย พบว่า ต้องการให้มีการเพิ่มทางเลือกรูปแบบการประเมินวิทยฐานะให้หลากหลายมากขึ้น เพราะโรงเรียนในสังกัด สพฐ. มีบริบทที่แตกต่างกัน ทั้งกลุ่มโรงเรียนขนาดใหญ่ กลาง และขนาดเล็ก รวมไปถึงโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร รวมถึงครู มีความต้องการเลือกใช้รูปแบบการประเมินที่แตกต่างกันไปตามกลุ่มอายุและความถนัด

“สพฐ. ไม่ได้รื้อเกณฑ์ประเมิน ว PA เพราะเป็นเกณฑ์ประเมินที่ดีอยู่แล้ว แต่ต้องการเพิ่มทางเลือกรูปแบบการประเมินวิทยฐานะให้มีความหลากหลายตามบริบทของโรงเรียน และบริบทของครูผู้สอน ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาระบบและบริหารงานบุคคลและนิติกร (สพร.) ไปตั้งคณะทำงานวิเคราะห์เกณฑ์ประเมินวิทยฐานะ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มครูแต่ละกลุ่ม เพราะจากการรับฟังความคิดเห็นของครูส่วนใหญ่พบว่า อยากให้เพิ่มทางเลือกรูปแบบการประเมินวิทยฐานะ เช่น กลุ่มครูที่ได้รับรางวัลจากการประกวดจำนวนมากอยากได้ ว13 กลับมา หรือกลุ่มที่ไม่เก่งการทำคลิปวิดีโอประกอบการสอนก็อยากได้การประเมินวิทยฐานะเชิงประจักษ์แทน โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์จากผู้เรียน เป็นต้น ทั้งนี้ในฐานะที่ สพฐ. เป็นหน่วยงานกลางได้รับฟังเสียงสะท้อนจากครู วิเคราะห์และจัดทำเป็นข้อเสนอเพิ่มเติม ให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พิจารณา เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกรูปแบบการประเมินวิทยฐานะให้แก่ครูในแต่ละบริบท ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดภาระครูและเป็นขวัญกำลังใจครูได้อย่างแท้จริง” ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าว