เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นางพัชรี อาระยะกุล ปลัด พม. พร้อม น.ส.สราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)  และตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ร่วมแถลงข่าวกรณี นักพัฒนาสังคม ระดับชำนาญการ ทุจริตเงินกลุ่มเปราะบาง หลังตำรวจจับกุมตัวได้

น.ส.สราญภัทร กล่าวว่า กรณีมีจับกุมนักพัฒนาสังคมทุจริตยักยอกเงิน 13 ล้านบาทนั้น ไม่ใช่เงินช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง แต่เป็นเงินบัญชีเงินนอกงบประมาณที่ไม่ได้ใช้จ่ายเหมือนเงินปกติ เป็นเงินนอนในบัญชีนิ่งที่ๆ ไม่ค่อยได้มีเบิกจ่าย การเบิกจ่ายจะทำเป็นเคสๆ ที่จำเป็นต้องใช้จ่าย เช่น เมื่อต้องใช้เงินช่วยเหลือเด็ก ก็จะทำเรื่องเบิกจากบัญชีนี้ ซึ่งประมาณ 2-3 เดือน ถึงจะมีเบิกจ่าย ทำให้ไม่ได้มีการตรวจสอบบัญชีบ่อย จึงเป็นช่องว่างให้คนยักยอกไปได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเจ้าหน้าที่เราตรวจสอบบัญชีพบ กระทรวงไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยเข้าแจ้งความที่ สน.พญาไท ตั้งแต่วันแรกที่ทราบ มีหารือวางแผนดำเนินการจับกุมโดยร่วมมือกับตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“ขณะนี้ตำรวจได้จับกุมผู้ก่อเหตุได้แล้ว คือ นายพิศาล สุขใจธรรม ตามหมายจับของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ลงวันที่ 17 ก.ย. ขณะที่กำลังเดินทางหลบหนีข้ามแดนที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดย ตำรวจ บก.ปปป. ประสานจับกุมและนำส่ง สน.พญาไท เมื่อวันที่ 18 ก.ย. เวลา 23.00 น. กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งเป็นเจ้าทุกข์ ก็จะยื่นคัดค้านการประกันตัวต่อไป” น.ส.สราญภัทร กล่าวและว่า ขณะนี้ทางกรมฯ ได้ออกคำสั่งให้นายพิศาล ออกจากราชการไว้ก่อน ลงวันที่ 17 ก.ย. พร้อมทั้งระงับการจ่ายเงินเดือน และทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ขอให้ตรวจสอบธุรกรรมการเงินของนายพิศาล รวมถึงได้สั่งการให้กรมฯ ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงควบคู่ไปด้วยโดยด่วน เพราะเรื่องนี้ไม่สามารถให้อภัยได้เป็นการกระทำผิดร้ายแรง คนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นระดับผู้บริหารหรือระดับปฏิบัติการ หากเกี่ยวข้องก็จะเอาผิดถึงที่สุด และจากนี้จะปรับปรุงระบบเทคโนโลยีใหม่ทั้งกระทรวงฯ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอีกในอนาคต  

ด้าน นางพัชรี กล่าวว่า นายพิศาล เบื้องต้นรับสารภาพว่าทำเพียงคนเดียว และให้การว่าเป็นการยักยอกจากเงินปีงบประมาณ 2564 ซึ่งช่วงใกล้ปิดปีงบประมาณ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะต้องตรวจสอบทุกปี ทำให้ผู้ต้องหาเร่งเอาเงินออก ซึ่งคงมีการเตรียมการและรีบนำเงินออกเพื่อรีบหนี เป็นส่วนหนึ่งเราเห็นช่องโหว่และรีบจัดการโดยร่วมมือกับตำรวจทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม คิดว่าระบบอาจจะไม่ใช่ปัญหาหลัก แต่อยู่ที่ตัวบุคคล ซึ่งอาจจะได้รับความไว้วางใจทำงานจนมีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะระบบไอทีต้องยอมรับว่ายังเป็นจุดอ่อนสำหรับผู้บริหารที่อาจจะไม่มีความเชี่ยวชาญ ดังนั้นอาจต้องปรับคนที่ทำงานด้านนี้ให้มีย้ายสลับกรม เพื่อไม่ให้เกิดความเชี่ยวชาญจนเหมือนเป็นตัวตายที่ทำได้

ส่วนใครที่ทราบรหัสบัญชีบ้างนั้น นางพัชรี กล่าวว่า ยังตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ แต่ที่แน่ๆ เบื้องต้นมีผู้รู้รหัสบัญชี 3 ราย โดยมีเลขานุการกรมฯ ที่ดูแลการเงิน การบัญชี และมี ผอ.กลุ่มการเงินฯ และเจ้าหน้าที่ อีก 1 คน เป็นคนที่ 3  

ขณะที่ พ.ต.อ.ณัฐณวิทย์ สิทธาภิรมย์ ผกก.1 บก.ปปป. กล่าวว่า แม้ผู้ต้องหาสารภาพว่าทำคนเดียว แต่ตำรวจไม่ปักใจเชื่อ ต้องมีสอบสวนต่อ ทั้งนี้ การจับกุมครั้งนี้ถือว่าเร็วมาก เราทราบเรื่องวันที่ 13 ก.ย. วันที่ 17-18 ก.ย. ก็จับได้แล้ว