เมื่อวันที่ 11 พ.ย. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา ไซด์คิก (Sidekick) จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวชุมชนออนไลน์ “เรา” ทางเลือกสำหรับทุกคนที่ต้องการ “เพื่อน”ที่เข้าใจ โดยนางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า การจัดงานวันนี้เพื่อสะท้อนให้สังคมได้เห็นถึงปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ผลักดันเป็นประเด็นสาธารณะที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมแก้ไข ทั้งนี้ข้อมูลขอองค์กรเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติพบว่า 88% ของผู้หญิงในเอเชียแปซิฟิกถูกคุกคามทางเพศบนออนไลน์โดยเฉพาะเด็ก วัยรุ่น กลุ่มเปราะบาง ซึ่งมีดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้น ดังนั้น สสส.จึงผลักดันเรื่องความรุนแรงเป็นประเด็นสาธารณะเพื่อลดความรุนแรง โดยมียุทธศาสตร์ 4 ด้าน 1.พัฒนาองค์ความรู้ แนวปฏิบัติในการลดความรุนแรง 2.พัฒนาต้นแบบในระดับชุมชนและสถานประกอบการ 3.เสริมศักยภาพแกนนำ/เครือข่ายลดความรุนแรง 4.สนับสนุนการขับเคลื่อนงานนโยบายลดความรุนแรง

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ สมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวว่า ปี 2564-2566 แผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯร่วมกับ Sidekickและผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ศึกษาข้อมูลผู้หญิงที่กำหลังศึกษาในมหาวิทยาลัย 18 แห่ง พบว่า เคยถูกคุกคาม หรือล่วงละเมิดเกี่ยวกับเพศ 270 คน โดยเคยถูกคุกคามทางเพศโดยคนแปลกหน้าในที่สาธารณะ 75 % คุกคามทางออนไลน์ 58 % ทั้งนี้ 87 % เลือกหาความช่วยเหลือจากเพื่อน และคนในครอบครัว อีก 20% ขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์ ตำรวจ และสายด่วนต่าง ๆ และ 10% ไม่เคยขอความช่วยเหลือจากแหล่งใด ๆ เลย อย่างไรก็ตาม ผลจากการถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดในอดีตได้สร้างผลกระทบทางจิตใจ มีผลไปถึงการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น รู้สึกเครียด หวาดผวา เสียความมั่นใจในตัวเอง และส่วนใหญ่ไม่กล้าเข้าสังคมและทำความรู้จักคนใหม่ๆ จึงพัฒนาแพลตฟอร์ม “เรา” ขึ้นมาซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาคอยรับฟังและความคำปรึกษาแนะนำ ทั้งนี้สามารถเข้าไปใช้งานได้ที่ www.rao.asia แพลตฟอร์มของเพื่อนที่เข้าใจ

ด้าน นายตุลย์ ปิ่นแก้ว ผู้ก่อตั้ง Sidekick กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สถิติการคุกคามทางเพศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทางไซด์คิก จึงออกแบบแพลตฟอร์มเพื่อรองรับกลุ่มที่มีปัญหาคือช่วงอายุ 18-30 ปี ซึ่งใช้งานโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว ซึ่งระบบสามารถเข้าถึงได้ 24 ชั่วโมง โดยไม่มีการเปิดเผยตัวตน ใช้แล้วได้แต่กำลังใจดีๆ และความคิดเห็นดีๆ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ออฟไลน์ ให้สามารถนัดทำกิจกรรมต่างๆ  ร่วมกันได้อีกด้วยตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นปี 2566 อีกทั้งยังสามารถเข้าใช้งานได้ผ่านแอพลิคชั่นไลน์เพื่อความสะดวกของผู้ใช้งานได้  

รศ.ดร.สมพร รุ่งเรืองกลกิจ นักวิชาการอิสระด้านสุขภาพจิตและเพศภาวะ กล่าวว่า ที่ผ่านมาบุคลากรทางการแพทย์ ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องประเด็นการคุกคามทางเพศ จึงจ่ายยาคลายเครียดให้แล้วให้คนไข้จัดการปัญหานี้ แต่ในประเด็นการคุกคามทางเพศ ความรุนแรงทางเพศ มันไม่ใช่เขามีปัญหาแต่เป็นสังคมที่มีปัญหา ปัญหาคือคนที่ทำความรุนแรง แต่ในบ้านเรายังไม่ถูกอธิบายแบบนี้ ดังนั้นกรอบการคิดด้านเพศสภาวะ (Gender Lens) จึงมีความสำคัญ คนที่เรียนด้านสาธารณสุขควรจะมีชุดความคิดด้านเพศสภาวะ ที่ผ่านมาจึงได้มีการฝึกอบรมเรื่องนี้ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการอบรมก็มีความเข้าใจมากขึ้นว่า ต้องรับฟังด้วยหัวใจ ไม่ใช่ฟังสมอง ทำให้ผู้รับบริการรู้สึกดี และเข้าใจว่าจริงๆ แล้วปัญหาอยู่ที่สังคม คนไข้จึงไม่ต้องเปลี่ยนอะไร แต่เรารับฟังและเข้าใจคุณ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างไรก็บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ยังมีน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้รับบริการในโรงพยาบาล  ดังนั้นการมีแพลตฟอร์ม www.rao.asia จึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้มีการรับฟังและเป็นประโยชน์มาก