สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้ออกบทวิจัยมีเรื่องที่น่าสนใจ “Solo Economy : เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ในยุคอยู่คนเดียว” โดยการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างครัวเรือนที่มีคนอาศัยอยู่คนเดียวมากขึ้น ทำให้ Solo economy เติบโตอย่างมากทั่วโลก และส่งผลให้ธุรกิจในประเทศต่าง ๆ เริ่มปรับตัว เนื่องจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้ มีมูลค่าสูงกว่าคนกลุ่มอื่น

สำหรับประเทศไทย จำนวนครัวเรือนคนเดียวในปี 2565 มีจำนวนกว่า 7 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นสัดส่วน 26.1% ของครัวเรือนทั้งหมด เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 16.4% ในปี 2555

ซึ่ง Euromonitor ระบุว่า ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนคนเดียวสูงที่สุดในเอเชียแปซิฟิก อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาธุรกิจในไทย พบว่า ยังไม่ค่อยปรับตัวเพื่อตอบรับกับคนกลุ่มนี้มากนัก มีเพียงการส่งเสริมในภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจร้านอาหารที่รองรับลูกค้าที่มาคนเดียวเท่านั้น

ขณะที่ครัวเรือนกลุ่มนี้ยังมีพฤติกรรมที่อาจสร้างประโยชน์ต่อภาคธุรกิจในหลายด้าน ได้แก่

1.ที่อยู่อาศัยแนวดิ่งตอบโจทย์ความต้องการของครัวเรือนคนเดียวมากขึ้น โดยปี 2565 ครัวเรือนคนเดียวอาศัยอยู่ในห้องชุดฯ คิดเป็นสัดส่วน 24.0% และมีจำนวนผู้อาศัยอยู่ในห้องชุดฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 92.9%

2.เมื่อต้องอยู่คนเดียวการคลายเหงาจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายอื่นที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม พบว่า ครัวเรือนคนเดียวมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการสื่อสารคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 27.6% ในปี 2565 สูงกว่าค่าใช้จ่ายประเภทอื่น นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มชอบเลี้ยงสัตว์และปลูกต้นไม้

3.ครัวเรือนคนเดียวมีแนวโน้มท่องเที่ยวมากขึ้น และเกือบ 1 ใน 3 ของครัวเรือนคนเดียวยังชอบทำกิจกรรมทางด้านศาสนาอีกด้วย

4.ครัวเรือนคนเดียวส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการสร้างหลักประกันในชีวิตด้วยการทำประกัน ในปี 2565 ครัวเรือนคนเดียวกว่า 4.9 ล้านคน มีการทำประกันชีวิต/ประกันภัย หรือคิดเป็นสัดส่วน 68.8% ของครัวเรือนคนเดียวทั้งหมด ในจำนวนนี้มีครัวเรือน 3.4% ที่ทำประกันสุขภาพเพิ่มเติม

จากพฤติกรรมข้างต้นชี้ให้เห็นว่า หากภาคธุรกิจมีการปรับตัวเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบสนองต่อคนกลุ่มดังกล่าว จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคธุรกิจได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การมีครัวเรือนคนเดียวเป็นจำนวนมากไม่เพียงส่งผลดีและเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่ยังอาจสร้างปัญหาอื่นให้กับสังคมได้มากขึ้นเช่นกัน เนื่องจาก 1 ใน 3 ของครัวเรือนคนเดียวเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ขณะเดียวกัน ในปี 2564 ครัวเรือนคนเดียวกว่า 16.6% มีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมในปัจจุบันยังไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตคนเดียวมากนัก โดยเฉพาะปัญหาด้านความปลอดภัย ดังนั้น หากไทยจะยกระดับ Solo Economy ให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ

1) การเสริมสร้างทักษะทางการเงิน และการเข้าถึงหลักประกันรายได้หลังเกษียณตั้งแต่ในวัยแรงงาน 2) การช่วยเหลือครัวเรือนผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง รวมทั้งส่งเสริมการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ทางสังคม ควบคู่กับการปรับภูมิทัศน์สภาพแวดล้อมและเพิ่มพื้นที่สาธารณะประโยชน์ 3) การยกระดับความปลอดภัยทางสังคมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตคนเดียว และ 4) การส่งเสริมให้ภาคเอกชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมสอดคล้องกับพฤติกรรมของครัวเรือนคนเดียว

(ที่มา : สภาพัฒน์)