เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. เวลา 14.00 น. ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐถกาพิเศษ หัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจไทย” ในงานสัมมนาวิชาการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) ถึงการอบรมในหลักสูตร วบส. ว่า หากใช้คอนเนคชั่น​ให้เป็นประโยชน์​ และใช้ความรู้ความสามารถในทางที่ถูกต้อง ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่หากใช้เรื่องเหล่านี้เพื่อยกตัวเองเหนือคนอื่น ใช้ทรัพยากรของรัฐในทางที่ไม่ถูกต้อง ถือว่าเป็นบุคคลที่น่ารังเกียจ โดยมีหลายหลักสูตรที่มีผู้เรียนปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง ท่านเป็นบุคคลพิเศษเป็นบุคคลที่ได้รับเกียรติจากสถาบันที่มีเกียรติมาพบปะสังสรรค์หรือมาอยู่ร่วมกัน ก็สามารถมาช่วยทำประโยชน์ให้สังคมได้ บางคนอาจบอกว่าธุรกิจของตัวเองเล็กนิดเดียวจะไปทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมหายไปได้อย่างไร ทั้งที่จริง การปฏิบัติตัวของทุกคนรวมถึงตน แม้เป็นส่วนเล็กๆ แต่มีส่วนช่วยเหลือได้

“ผมขอถามพวกท่านว่าเคยเดินทางไปยังหนองบัวลำภูหรือไม่ หากได้ไปเมืองเหล่านี้ ก็จะได้รู้จริงๆ ว่าสังคมมีความเหลื่อมล้ำกันอย่างไร ไม่เกี่ยวกับประเด็นที่ว่านายกฯ เองมาจากภาคธุรกิจ เพราะผมมีความตั้งใจจริงในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม และเหตุผลหนึ่งที่ผมมาพูดในวันนี้ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ เพราะรู้แล้วว่าทุกคนตามอยู่ว่าผมทำอะไรอยู่บ้าง แต่อยากวิงวอน อ้อนวอนทุกคนว่าพวกท่านเป็นบุคคลที่มีต้นทุนสูงทางสังคม สามารถช่วยลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมได้” นายเศรษฐา กล่าว

ในช่วงท้าย ตัวแทนนักศึกษาหลักสูตร วบส.ได้ให้กำลังใจกับนายกฯ โดยระบุว่า การที่ประเทศไทยได้นายกฯ ชื่อเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ คนที่ 30 ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเหมือนโชคชะตาส่งมาให้ช่วยขับเคลื่อนประเทศชาติ ทุกคนขอเป็นกำลังใจ ทั้งนี้ยอมรับว่าสถานการณ์ไม่ง่าย ข้าวยากหมากแพง ภาวะโลกร้อน การขัดแย้งจากประเทศสารพัดปัญหาถือเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับคนที่ยืนเป็นหัวเรือของประเทศ

นอกจากนี้ นักศึกษาคนดังกล่าวถามนายกรัฐมนตรีว่า ก่อนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ในฐานะนักธุรกิจแนวหน้าของประเทศไทยมีเรื่องอัดอั้นตันใจอะไรที่ซีเรียสมากที่สุด และคิดว่าถ้ามีโอกาสขับเคลื่อน จะทำอะไรเป็นสิ่งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องที่ทำให้อัดอั้นตันใจ คือเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะปฏิเสธไม่ได้ บางครั้งตนใช้จ่ายเยอะจนกระทั่งละอายใจ อย่างเช่นการมีนาฬิกาหลายเรือน จนไม่รู้ว่าจะมีไปทำไม แต่ไม่ได้ปฏิเสธว่าอยากมีอีก แต่คิดแล้วก็ทุเรศตัวเอง เพราะบางคนเขาไม่มี อย่างไรก็ตาม การที่ตนพูดแบบนี้ไม่ใช่เพื่อทำให้ตัวเองดูดี แต่มันเป็นความขัดแย้งในตัวเอง

“นิสัยส่วนตัวของผม เวลาไปทานข้าวที่ไหน ไม่ชอบคำว่าโต๊ะวีไอพี ไม่ชอบแบ่งอาหารสำรับ ไม่ชอบแบ่งไวน์ 2 เกรด เวลาลงพื้นที่ ผมจะบอกทีมงานเสมอว่าผมกินข้าวสำรับเดียวกับนักข่าวและเจ้าหน้าที่ทุกคน ถ้าให้ผมกินพิเศษ ผมไม่เอา เรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่พยายามผลักดันมาโดยตลอด แต่ยังไม่สำเร็จ เป็นสารตั้งต้นที่ทำให้อยากเข้ามาการเมืองตรงนี้” นายกฯ กล่าว

นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงเรื่องการศึกษา ว่า เป็นอีกเรื่องซึ่งในวงต่างๆ ที่ไปพูดคุยบางคนก็ด้อยค่ารัฐบาลในการศึกษา แต่ตนเชื่อว่าทุกคนเริ่มได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นโรงเรียนสาธิต อัสสัมชัญหรืออินเตอร์เนชั่นแนล หลายคนบอกตลอดว่าการศึกษาไทยห่วย หลักสูตรไม่ดี ครูไทยสอนไม่ได้เรื่อง ตนพูดเรื่องนี้ตลอดเวลาในวงเหล้าก็มีการพูดคุยกันตลอดเวลา แต่ไม่มีใครลุกขึ้นมาทำ ลูกผมก็ไปเรียนเมืองนอกจบการศึกษาที่ดี ค่าเล่าเรียนปีละหลายล้านบาท หลายคนก็คงรู้สึกเช่นนั้นเพราะพวกท่านมีทางเลือกตลอดเวลาแต่มีคนอีกกว่าล้านคนที่หลุดออกจากวงการการศึกษา หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เพราะพ่อแม่ถูกไล่ออก และไม่สามารถที่จะให้ลูกไปเรียนได้

“ผมคิดตลอดเวลาว่าทำอย่างไรจะให้คนเหล่านี้กลับเข้าสู่วงการการศึกษาได้ตนอยู่ในภาคเอกชนก็บริจาคเงิน 100 ล้านบาท ให้กับจ.ราชบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่ไซซ์เล็กและบริษัท แสนสิริ ไม่มีโครงการและไม่ได้เป็นจังหวัดพรรคเพื่อไทยมี สส.เพราะเดี๋ยวจะหาว่าทำเพื่อซื้อเสียง เพื่อให้ไปทำงานว่าจังหวัดราชบุรีจะไม่มีเด็กแม้แต่หนึ่งคนหลุดออกนอกระบบการศึกษา ขอให้จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และต้องการให้บริษัทใหญ่ๆ ได้มีส่วนสนับสนุนในระบบการศึกษา

นายกฯ กล่าวว่า การพัฒนาการศึกษานั้น เราต้องพัฒนาเริ่มตั้งแต่เอาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาเข้ามาก่อน ประเทศไทยถือว่าโชคดีว่าเรามีโรงเรียนเยอะ แต่ถ้าใช้คำว่าควิกวิน ตนว่าหลักสูตรหลายอย่างไม่ได้สอนให้คนจบออกมาตรงกับงานที่มีความต้องการของตลาด ตนเชื่อว่าทุกคนทราบและบังเอิญเป็นความซวยของประเทศด้วย ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยถือว่าต่ำมาก แต่ตนคิดว่าต้องปรับหลักสูตรด้วย อย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกามีงานด้านการศึกษาที่แข็งแกร่งมาก และมีคนรวยบริจาคเพื่อการศึกษา แต่ประเทศไทยมีหรือไม่ ทั้งนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้เมื่อใดที่สามารถสร้างบารมีได้หรือเริ่มตั้งไข่ได้ เราอยากเดินสายคุยกับภาคธุรกิจ ซึ่งเงินด้านการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรมีน้อยมากอย่างไรเสียต้องพึ่งเอกชน การศึกษาเท่านั้นที่จะยกระดับสถานะขึ้นมาได้จากความเหลื่อมล้ำ เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ตนจะลดในสังคมและจะพยายาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การกล่าวปาฐกถาในครั้งนี้ถือเป็นการพูดบนเวทีที่นานที่สุดตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา โดยใช้เวลาถึง 40 นาที และสำหรับหลักสูตร​ วบส.นี้​ แพทย์หญิงพักตร์พิไล ทวีสิน​ ภริยา​นายกรัฐมนตรี​ เป็นนักศึกษา​ วบส.รุ่นที่ 4 ซึ่งเป็นคณะจัดงานแต่ไม่ได้เดินทางมาร่วมงาน