ตามที่ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. มอบหมายให้ พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป. พ.ต.อ.สิทธิพร กระสิ ผกก.2.บก.ปปป. พร้อมด้วย นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และ ปปง. นำกำลังตรวจค้น 5 เป้าหมาย ในจังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และกทม. หลังสืบสวนพบว่ามีข้าราชการทุจริตในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

โดยสำหรับเป้าหมายหลักอยู่ที่ อาคาร 14 ตึก 100 ปี การสาธารณสุขไทย ภายในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ต.ตลาดขวัญ อ.เมืองนนทบุรี ซึ่งได้ทำการจับกุมนางจรรยา ทรัพย์ธรณี อายุ 54 ปี ตำแหน่งนักวิชาการพัสดุ ฝ่ายพัศดุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข น.ส.รัตนาภรณ์ หงษ์ทอง อายุ 32 ปี ตำแหน่ง เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน ฝ่ายบริหารทั่วไป ตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ที่ 29-30/2566 ลงวันที่ 6 ธ.ค.2566 ในความผิดฐาน ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐฯ

ส่วนเป้าหมายที่สองจับกุมนายอานนท์ หงษ์ทอง อายุ 32 ปี กรรมการบริษัท เอ็น วาย พลัส จำกัด ตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ที่ 31 /2566 ในความผิดฐาน สนับสนุนเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้ตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จับได้ที่บริษัท เอ็น วาย พลัส จำกัด ต.พิมลราช อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี หลังสืบทราบว่าผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ร่วมกันจัดทำเอกสารเท็จ จัดซื้อวัสดุวิทยาศาสตร์ โดยไม่มีการส่งมอบวัสดุตามใบจัดซื้อ มูลค่าความเสียหายเฉพาะในปี 66 รวมแล้วกว่า 8 ล้านบาท

เบื้องต้นสอบถามนางจรรยา ให้การรับสารภาพ ส่วน น.ส.รัตนาภรณ์ ให้การภาคเสธ นำตัวผู้ต้องหาทั้งคู่และลูกเขย ส่งพนักงานสอบสวน บก.ปปป. ดำเนินคดีต่อไป

4เสาหลักปราบทุจริตบุกซิว ‘สาวซี7’ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3ปีโกง28ล้าน

ทั้งนี้ สำหรับรายละเอียดผลการตรวจค้นทรัพย์สิน และจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย จะมีการแถลงข่าวที่ กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ในเวลา 15.00 น. อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินของนางจรรยา ตั้งแต่ 1 ม.ค.66 จนถึงปัจจุบัน พบความเสียหายกว่า 4 ล้านบาท ด้านอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สั่งตรวจสอบย้อนหลัง 3 ปี พบความเสียหายรวม 28 ล้านบาท

นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. เปิดเผยว่า เบื้องต้นผู้ต้องหาเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งดังกล่าวกว่า 30 ปี ได้มีการวางแผนนำลูกสาวเข้ามารับราชการอีกตำแหน่งหนึ่งในองค์กรเดียวกัน เพื่อรองรับการเบิกจ่าย โดยจะมีลูกเขย ตั้งบริษัทเอกชนเพื่อทำหน้าที่จัดหาวัสดุตามใบเบิกจ่าย โดยนางจรรยา จะสร้างเอกสารเท็จขึ้นมา และปลอมลายมือชื่อผู้ตรวจรับพัสดุ จากนั้นจะส่งไปให้ฝ่ายที่ลูกสาวทำงานรับช่วงต่อ ซึ่งขบวนการนี้ไม่มีบุคคลอื่นในองค์กรเกี่ยวข้อง โดยทำในรูปแบบของครอบครัว ซึ่งพบว่าทำมานานกว่า 3 ปี มูลค่าความเสียหายกว่า 20 ล้านบาท แต่จากการตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย พบทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์รวม 11 แปลง, เงินสด 5 ล้านบาท, รถจักรยานยนต์ ยี่ห้อดูคาติ 1 คัน และรถยนต์ 1 คัน เจ้าหน้าที่จึงทำการยึดอายัดเพื่อตรวจสอบว่าเป็นทรัพย์สินที่กระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกันหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ทางตำรวจจะขยายผลตรวจสอบเส้นทางการเงิน และตรวจสอบการเบิกย้อนหลัง 5 ปี พร้อมทั้งขยายผลผู้ร่วมขบวนการ หากพบมีผู้กระทำความผิดจะลงโทษโดยไม่ละเว้น ซึ่งทางเจ้าหน้าที่คาดว่า ความเสียหายต่อรัฐฯ จากการกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 3 คนจะสูงกว่า 40 ล้านบาท.