วันนี้ (22 ก.ย.) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลให้การใช้ชีวิตของคนไทยเปลี่ยนไป  มีพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น ทำธุรกรรมต่างๆ รวมถึง ซื้อ-ขายสินค้า บริการ และสั่งอาหาร ทางออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่นและแพลตฟอร์มต่างๆ มากขึ้นอย่างก้าวกระโดด จึงทำให้ช่วงที่ผ่านมา พบเห็นข่าวผู้บริโภคออนไลน์ถูกหลอกลวงและถูกโกงจากพ่อค้าแม่ค้าหัวใสแทบทุกวัน ทั้งซื้อของแล้วไม่ได้ของ สินค้าไม่ตรงปก ถูกหลอกลวงให้กู้เงินออนไลน์ หรือแม้แต่แชร์ลูกโซ่ ฯลฯ

ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (1212 occ) ของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า ช่วงเดือ นม.ค.-ส.ค. 64 ที่ผ่านมา พบ ผู้บริโภคออนไลน์แจ้งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ ทั้งหมด 28,393 ครั้ง สูงสุดเป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการซื้อขายของทางออนไลน์ถึง 62.59% รองลงมาคือ ปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมาย 27.06% และหากลงรายละเอียดของปัญหาการซื้อขายของทางออนไลน์ พบว่า ส่วนใหญ่มักเป็นปัญหาการสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า หรือ ได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่สั่งไว้ 45% รองลงมาคือ สินค้าไม่ได้มาตรฐานตามที่โฆษณา 29% และนอกจากนี้ จะเป็นปัญหาได้รับสินค้าล่าช้า สินค้าเสียหาย ฯลฯ

ทั้งนี้กระทรวงดีอีเอส ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหลักในการส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการ ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทุกภาคส่วน เล็งเห็นถึงความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะผู้ตกเป็นเหยื่อปัญหาการซื้อขายของออนไลน์ รวมถึงปัญหาภัยคุกคามทางออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงกระบวนการเยียวยาและได้รับความช่วยเหลือได้เร็วที่สุด จึงมอบนโยบายให้ เอ็ตด้า โดย ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ 1212 occ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ ก่อนประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการช่วยเหลือคุ้มครองโดยเร็วที่สุด เกิดการสร้างระบบการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ครบวงจรมากยิ่งขึ้น

และเพื่อให้เกิดการบูรณาการสร้างความร่วมมือในการทำงานคุ้มครองดูแลผู้บริโภคระหว่างหน่วยงาน สู่การยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์เชิงรุก ผ่านความร่วมมือในการทำงานร่วมกันในมิติต่างๆ ทั้งการให้คำแนะนำและคำปรึกษาในการจัดการและการแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียน รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ทำให้การรับแจ้งเรื่องร้องเรียน รวมถึงการรับ-ส่งต่อเคส ระหว่างหน่วยงาน มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน เพื่อให้การบรรเทาและการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกิดขึ้นทันที เพื่อที่ทุกภาคส่วนได้เกิดความเชื่อมั่นและมั่นใจในการทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์

“ประชาชนหรือผู้บริโภคที่สั่งซื้อสินค้า บริการต่างๆ ทางออนไลน์แล้ว เกิดปัญหา ถูกโกง หลอกลวง อย่านิ่งนอนใจ หรือปล่อยความทุกข์ไปกับการบ่น โพสต์ลงโซเชียลมีเดียตามช่องทางต่างๆ เท่านั้น ท่านสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียน เพื่อให้ท่านเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือและได้รับการเยียวยาอย่างทันท่วงทีมากที่สุด” นายชัยวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้สำหรับประชาชนที่มีปัญหา หรือขอคำปรึกษาเข้ามาได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ 1212 occ ของเอ็ตด้า ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตามช่องทางติดต่อต่างๆ 4 ช่องทาง คือ 1) สายด่วนโทร.1212  2) อีเมล [email protected] 3) เว็บไซต์ https://www.1212occ.com และ 4) เฟซบุ๊ก ข้อมูลข่าวสาร 1212 OCC https://www.facebook.com/1212OCC