ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ออกเอกสารชี้แจงผลการประชุม คปภ. โดยมีมติให้บมจ. สินมั่นคงประกันภัย หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.66 เป็นต้นไป หลังศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และอาจ ทำให้บริษัทสามารถเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทได้ ประกอบกับบริษัทมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน และมีเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมาย จึงอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน
ทั้งนี้ คปภ. สามารถเข้าไปควบคุมการจ่ายเงินต่าง ๆ ของบริษัทได้ทั้งหมด นอกจากนี้ยังได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำที่บริษัทอย่างเต็มพิกัด เพื่อควบคุมให้บริษัทดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ทิพยประกันภัย และนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ได้รับทราบปัญหากรณี บมจ.สินมั่นคงประกันภัยถูกศาลล้มละลายกลางยกเลิกการทำฟื้นฟูกิจการแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ทางสินมั่นคงมีเวลาอีก 60 วันในการทำแผนเพิ่มทุนตามที่ คปภ.พอกำหนดซึ่งทางสินมั่นคง พยายามเริ่มหาทสงแก้ไข เช่น การผ่องถ่ายพนักงานไปยังบริษัทประกันบางแห่ง และต่อไปอาจจะเห็นการนำพอร์ตประกันภัยบางส่วนไปให้บริษัทประกันอื่นบริหารต่อได้
อย่างไรก็ตาม หากสินมั่นคงไม่สามารถเพิ่มทุนได้และต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาต จะส่งผลให้หนี้ค้างของสินมั่นคงซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ต้องถูกย้ายไปที่กองทุนประกันวินาศภัยแทน และจะส่งผลให้กองทุนมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นจาก 5 หมื่นล้านบาท เป็น 8 หมื่นล้านบาททันที และอาจจะกลายเป็นปัญหาในการชำระแก่เจ้าหนี้หรือผู้เคลสประกันในอนาคตเนื่องจากปัจจุบันกองทุนเหลือสภาพคล่องเพียงแค่ 1,500 ล้านบาท เท่านั้น
“ที่ผ่านมาสมาชิกสมาคมญได้มีการเข้าไปช่วยเหลือบ้างแล้ว อาทิ การเพิ่มเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ จาก 0.25% เป็น 0.5% ซึ่งทำให้กองทุนมีรายได้เพิ่มจากปีละ 700 ล้านบาทเป็น 1,400 ล้านบาท แต่ก็มองว่าไม่น่าพอเมื่อเทียบกับภาระหนี้ที่อยู่ทั้งหมด
ส่วนแนวคิดที่อาจจะมีการแก้กฎหมายเพื่อขอให้สมาชิกบริษัทประกันวินาศภัยต้องส่งเงินเข้ากองทุนเพิ่มเป็น 2% นั้นก็มองว่าเป็นอัตราที่สูงเกินไปและอาจจะทำให้เกิดวิกฤติในอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยได้เพราะปัจจุบันบริษัทต่างๆก็มีกำไรอยู่ในระดับไม่ถึง 5% เลยเท่านั้น
ทั้งนี้ เชื่อว่าภาครัฐคงตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวดีซึ่งส่วนตัวอยากให้หน่วยงานที่กำกับดูแลพยายามสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนให้รับทราบถึงข้อมูลที่แท้จริงเพื่อนำไปบริหารจัดการกองหนี้ ให้มีขนาดลงจากจาก 3 หมื่นล้านก็เป็นได้ ขณะเดียวกันสมาชิกประกันวินาศภัยก็พร้อมเข้าไปช่วยดูแลรับผิดชอบผู้ทำประกันบางส่วนจากสินมั่นคง ให้สามารถได้รับความคุ้มครองต่อไปได้ เพื่อช่วยรักษาความน่าเชื่อถือให้แก่อุตสาหกรรมประกันภัยต่อไป