อันดับ 10

AI for Good ปัญญาประดิษฐ์ช่วยมนุษย์กู้โลก

ปัญหาความไม่ยั่งยืนมีความซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้แค่มนุษยชาติลำพังคงแก้ได้ไม่ทันการ แต่เราได้ทราบข่าวดีจากการประชุม AI for Good ที่รวบรวมนักวิทยาศาสตร์ นวัตกร และเหล่าปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จากทั่วโลก ที่อาสามาช่วยมนุษยชาติแก้ปัญหาต่าง ๆ ใน SDG ทั้ง 17 ข้อ เช่น Grace นางพยาบาล AI รวมทั้งหุ่นยนต์ต่าง ๆ ในวงการสาธารณสุขที่อาสาเข้ามาช่วยมนุษย์ดูแลด้านสุขภาวะ SDG3 อาทิ ดูแลผู้ป่วย ดูแลผู้สูงอายุ ทั้งยังมี AI ต้นแบบอีกกว่า 50 ตน ช่วยเก็บข้อมูลนำไปประมวลผลเพื่อคิดค้นนวัตกรรมทางเลือกใหม่ ๆ ตลอดจนทำนายอนาคต เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย SDG ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ร่วมกับมนุษยชาติ

อันดับ 9

ไทยมีคณะทำงาน CSR ครบทุกจังหวัด-กทม. แต่งตั้ง CSO คนแรกอย่างเป็นทางการ

ตั้งแต่ปี 2000 ที่เราอยากให้เกิดการพัฒนาเครือข่ายความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น รวมทั้งมีผู้นำและผู้รับผิดชอบจริงจังในจังหวัดต่าง ๆ ข่าวดีปีนี้คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ประกาศว่า ปี 2023 ไทยมีคณะกรรมการ CSR และการพัฒนาที่ยั่งยืนครบทุกจังหวัดแล้ว ซึ่งกลไกนี้ประสานงานโดย พมจ. และขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนข่าวดีของคนกรุงเทพฯ คือ ปีนี้ กทม. ได้มีการประกาศแต่งตั้ง CSO หรือ Chief Sustainable Officer คนแรกแล้ว หลังได้เห็นตัวอย่างดี ๆ จากประเทศสวีเดน และสิงคโปร์ ทำให้ตอนนี้บุคลากรด้านความยั่งยืนเป็นที่ต้องการ และฉายภาพให้เห็นว่ากลไกความร่วมมือด้านความยั่งยืนได้เกิดขึ้นและกำลังเติบโตแล้ว หลังผลักดันมากว่า 20 ปี

อันดับ 8

รัฐบาลไทยใส่ใจการพัฒนาทุนมนุษย์ พัฒนาคนเพื่อพัฒนาชาติและพัฒนาความยั่งยืน

เราเห็นข่าวความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจกับภาครัฐในการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างเป็นระบบมากขึ้นในปี 2023 ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างจากมูลนิธิ SCG ที่ทำเรื่อง Learn to Earn หรือ True ที่ได้รวบรวมเครือข่ายนักธุรกิจมาจัดตั้งเป็น Connext ED หรือมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา ที่จะช่วยพัฒนาการศึกษาด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือกลุ่ม Minor ที่จัดตั้ง Minor Academy ร่วมกับอาชีวะและมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันพัฒนาบุคลากรในวงการอาหารกับโรงแรม ภายใต้รูปแบบเรียนไปด้วย แถมได้ความรู้ ได้ทักษะ ได้ประสบการณ์และมีรายได้ระหว่างที่เรียนอยู่ โดยเมื่อเรียนจบจะมีงานที่ชอบรองรับทันที

อันดับ 7

ระบบการเงินสนับสนุนความยั่งยืนเพื่อผลักดัน Net Zero และส่งเสริม Green Finance

เมื่อก่อนตอนที่องค์กรต่าง ๆ จะลงทุนเรื่องความยั่งยืน เช่น ปรับปรุงกิจการ ปรับปรุงโรงงาน เครื่องจักร และองค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อลดคาร์บอน การที่จะหาแหล่งทุน หรือหาแหล่งเงินกู้ทำได้ยาก และแหล่งทุนมักจะถามแค่ ROI หรือ Return on Investment ซึ่งโครงการเหล่านี้มักจะไม่ผ่าน แต่ปัจจุบันแหล่งทุนกับธนาคารชั้นนำเปลี่ยนไป โดยมักจะให้เงินกู้ที่มีข้อแม้เกี่ยวกับความยั่งยืน ซึ่งผู้กู้ต้องแสดงแผนงานและผลประกอบการที่วัดได้ เช่น ลดมลภาวะ ลดคาร์บอนจากขบวนการธุกิจ หรือลดผลกระทบต่าง ๆ ของสังคม และยิ่งผลงานดีเท่าไร ดอกเบี้ยความยั่งยืนก็ยิ่งลดลง ถือเป็น responsible lending ที่ธนาคารและกองทุนได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาความยั่งยืนเพื่อผลักดัน Net Zero จนกลไก Green Finance ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวของปีนี้

อันดับ 6

ยุคเฟื่องฟูของ SE

วิสาหกิจเพื่อสังคมของคนรุ่นใหม่

ปีนี้มีผู้คนสนใจท่องเที่ยวชุมชนเพิ่มขึ้น เพราะอยากมีประสบการณ์อยู่กับชาวบ้านแบบ home stay นอกจากนี้ยังสนใจทำกิจกรรม CSR ในชุมชน เช่น การปลูกป่า การทำฝาย การทำทุ่นปะการัง รวมถึงช่วยสนับสนุนสินค้าและบริการของชุมชน จนทำให้เราเห็นคนรุ่นใหม่พากันก่อตั้ง SE Social Enterprise หรือวิสาหกิจเพื่อสังคมกันมากขึ้น ทำให้มูลนิธิ และบริษัทต่าง ๆ ได้เข้ามาสนับสนุนธุรกิจ SE มากขึ้น ทั้งช่วยขายสินค้าและบริการ หรือแม้แต่การให้ทุนเพื่อสนับสนุน SE จนทำให้ธุรกิจนี้ In trend และถือว่าเป็นปีที่เฟื่องฟูของ SE

อันดับ 5

ต่างชาติยอมรับแนวทางพัฒนาแบบพอเพียง
จนถูกนำมาพูดถึงในเวทีความยั่งยืนโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในงานการประชุมวิชาการ รวมถึงนิทรรศการด้านความยั่งยืนต่าง ๆ ตลอดทั้งปี นอกจากจะได้ยินเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG ที่เป็นวิธีคิดแบบฝรั่งแล้ว เรายังได้ยินฝรั่งที่เป็นผู้นำ นักวิชาการ และนักขับเคลื่อนพากันเล่าถึง “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ถือเป็นสมบัติอันลํ้าค่าของคนไทย ที่พวกเขาได้นำเอาไปประยุกต์ใช้ในประเทศของเขาจนได้ผลลัพธ์ที่ดี ชนิดสวนทางเศรษฐกิจกระแสหลักที่สร้างปัญหา ที่ถือเป็นข่าวดีตลอดกาล ที่สำคัญในปี 2023 นี้ เรายังได้เห็นการขยายผลแนวคิดพอเพียงไปสู่ภูมิภาค และในระดับโลกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย

อันดับ 4

พลังงานสะอาดกำลังมาแรง

ในปี 2023 นี้เป็นปีที่พลังงานที่ทำร้ายโลก กำลังค่อย ๆ ถูกทดแทน โดยได้มีการถกเถียงกันเรื่องการขับเคลื่อนพลังงานสะอาดในเวทีต่าง ๆ ทั่วโลกตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ซึ่งก็มีทั้งผู้เสียประโยชน์จากพลังงานแบบเดิม ที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลง และผู้คนทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เห็นได้จากข้อสรุปที่ไม่สรุปจากเวที COP28 แต่ข่าวดีก็คือ จากการสัมภาษณ์ท่านนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เมื่อเร็ว ๆ นี้ท่านบอกว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญเร่งด่วนในการพัฒนาพลังงานสะอาด ทำให้ปีนี้เราจึงได้เห็นบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ของไทย รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานด้านพลังงานใส่ใจเรื่องนี้จนเกิดการลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาล และข่าวดียิ่งไปกว่านั้นก็คือ ธนาคารและแหล่งทุนต่าง ๆ หันมาสนับสนุนด้วยการริเริ่ม Green Finance ที่ดอกเบี้ยเงินกู้จะลดลงตามผลการลดคาร์บอนของกิจการ
คนไทยเราจึงเห็นพลังงานสะอาด และธุรกิจ Low Carbon เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอข้อตกลงระดับโลก

อันดับ 3

นักลงทุนใส่ใจ ESG และรัฐบาลหันมาผลักดันกองทุนเพื่อความยั่งยืน (ESG Fund)

หันไปทางไหนปีนี้ก็มีแต่คนพูดถึง ESG อีกทั้งตลาดหลักทรัพย์ยังได้ผลักดันและขยายผลจาก Index ของ ESG 100 ไปสู่มาตรฐานและผลประกอบการ ESG ของบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยชั้นนำบางแห่งยังบอกว่าจะก้าวสู่การเป็น Sustainable University ได้จะต้องนำด้วยแนวคิด ESG แบบภาคธุรกิจ และมี Sustainable Report ที่อ้างอิง ESG ซึ่งในขณะที่รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐกำลังรีรอ ข่าวดีคืออีกไม่นานทุก ๆ หน่วยงานก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องทำเรื่องนี้ และข่าวดีอีกเรื่องคือตัว G Governance ธรรมาภิบาลก็จะมีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้น จนเรื่ององค์กรคุณธรรม In trend อีกครั้ง

อันดับ 2

ยุคทองของมนุษย์ทองคำ CSO
(Chief Sustainable Office)

จากข่าวร้ายเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่ใครริเริ่มทำเรื่องความยั่งยืนจะถือเป็นตัวประหลาด แต่ปีนี้กลับเป็นข่าวดีอันดับที่ 2 เมื่อมาสู่ยุคที่องค์กรชั้นนำล้วนให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเป็นอันดับแรก ที่ไม่ว่าใครก็ไม่พูดเรื่องนี้ไม่ได้ แต่การพูดเรื่องนี้ก็ต้องมีเรื่องราวที่โดดเด่น ตั้งแต่วิสัยทัศน์ขององค์กรและผู้นำ (Vision) หรือมีการเขียนไว้ชัดเจนในพันธกิจ (Mission) เพื่อจะแปลออกมาเป็นยุทธศาสตร์ รวมถึงต้องมีแผนงานกับมีงบประมาณจัดไว้ให้เหมาะสม (Strategy & Action Plan) ที่สำคัญจะต้องมีผู้บริหารระดับสูงรับผิดชอบ (CSO Chief Sustainable Officer) ทำให้ตอนนี้ องค์กรใดไม่มี CSO ในโครงสร้างถือว่าล้าหลัง โดยการทำนายของนักวิจัยจาก World Economic Forum บอกว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า ตำแหน่งงานจำนวนมากจะหายไป เพราะถูกแทนที่ด้วย AI แต่ตำแหน่งงานที่จะมาแรง คือ งานเกี่ยวกับความยั่งยืนที่สามารถเติบโตได้ถึงตำแหน่ง CSO นอกจากนี้ งานวิจัยต่าง ๆ จากโลกตะวันตกยังบอกอีกว่า CEO ของบริษัทยุคใหม่คนต่อไปจะมาจากผู้บริหารความยั่งยืน หรือ CSO ตอนนี้จึงถือเป็นยุคทองของ CSO ที่เกิดการแย่งตัวและล่าหัวกันด้วยเงินเดือนที่สูงลิ่ว และข่าวดีไปกว่านั้น นั่นก็คือ มหาวิทยาลัยชั้นนำจะมีคณะ หรือสถาบันที่สอนเรื่องนี้โดยเฉพาะ ทั้งในระดับปริญญาตรี โท เอก หรือมีแม้แต่คอร์สสั้น ๆ เพื่อ reskill-upskill ส่วนมีที่ไหนที่สอนเรื่องนี้บ้าง ก็ต้องลองหาอ่านย้อนหลังได้ใน Sustainable Daily นะครับ

อันดับ 1

ไทยยืนหนึ่งการเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเป้าหมาย SDG ได้ดีที่สุดในอาเซียน

ข่าวดีที่สุดในปี 2023 ที่ผู้คนวงการความยั่งยืนภาคภูมิใจก็คือ อันดับประเทศไทยใน SDG Index ที่ไทยครองแชมป์อันดับ 1 ด้วยคะแนน SDG 74.7 คะแนน โดยนำประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลาติดกัน 5 ปีซ้อน โดยปีนี้เรามีผลงานเด่นเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย จนได้ขยับขึ้น 1 อันดับมาอยู่ลำดับ 43 ของโลก แต่ขณะที่เราดีใจกับการเป็นแชมป์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ไทยเองยังคงมีภารกิจที่ต้องช่วยกันทำเป้าหมายที่ยังเป็นสีแดง ที่ยังน่าเป็นห่วงอีก 5 เรื่อง ได้แก่ SDG 2 ความหิวโหย, SDG 3 สุขภาวะที่ดี, SDG 14 สิ่งมีชีวิตใต้นํ้า, SDG 15 สิ่งมีชีวิตบนบก และ SDG 16 สันติภาพ ความเป็นธรรม และความเข้มแข็งธรรมาภิบาล ที่ปีหน้า ปี 2024 เราไม่อยากเห็นตัวแดง แต่อยากเห็นตัวเขียวเพิ่มมากขึ้นในกระดาน SDG

“ส่งท้ายปลายปี 2023” เรามาเฉลิมฉลองให้ความสำเร็จของผู้คนในวงการความยั่งยืน ที่ช่วยกันปกป้องโลกใบนี้ไว้ด้วยการสนับสนุนผู้ด้อยโอกาสและผู้ที่ถูกทิ้งไว้ด้านหลัง ให้ได้มีสิทธิ มีเสียง มีโอกาส มีอาชีพเลี้ยงตัวเองกับครอบครัว อีกทั้งยังช่วยพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัดให้คงอยู่และถูกใช้อย่างคุ้มค่า ตลอดจนช่วยฟื้นฟูให้กลับไปอุดมสมบูรณ์เช่นเดิม ทั้งนี้ยังช่วยกันส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลให้โปร่งใส เข้มแข็ง เท่าเทียม เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นใหม่อย่างยั่งยืน

ซึ่งหวังว่าทุก ๆ ท่านจะดีใจกับข่าวดีเหล่านี้ และร่วมมือกันต่อไป…เพราะปีหน้ายังมีงานหนักสำหรับผู้พิทักษ์โลกรออยู่.