วันนี้​ (23 ก.ย.) ดร.วงกต วิจักขณ์สังข์สิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจดิจิทัล  บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เอ็นที เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (จีบีดีไอ)  พัฒนาระบบ เฮลท์ ลิงค์​ (Health Link) เชื่อมโยงรวบรวมข้อมูลประวัติการรักษาของผู้ป่วยจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ที่เข้าร่วมโครงการ มาจัดเก็บด้วยมาตรฐานสากลบนระบบคลาวด์ของ เอ็นที ช่วยอำนวยความสะดวก ในการย้ายโรงพยาบาลหรือกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน ทำให้แพทย์ในโรงพยาบาลใหม่ สามารถเรียกดูประวัติการรักษาของผู้ป่วยได้ทันที ปัจจุบันมี 40 โรงพยาบาลเข้าร่วมแล้ว และประชาชนสมัครเข้าร่วม 4 หมื่นคน

“โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 120   ล้านบาท โดยในเฟสแรก Health Link มีเป้าหมายเชื่อมโยงข้อมูลโรงพยาบาล 100 แห่งให้ได้ภายในปีนี้ โดยในปัจจุบันมีการเชื่อมโยงเรียบร้อยพร้อมใช้งานใน รพ. 40 แห่ง ส่วนใหญ่เป็น​ รพ.ใหญ่ ศูนย์การแพทย์  และ​ รพ.ของมหาวิทยาลัย ที่พร้อมใช้งานได้แล้วและจะทยอยมีโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้นทั้งของรัฐและเอกชน”

ดร.วงกต กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลนั้น ระบบ Health Link ได้รับการพัฒนาอยู่บนคลาวด์ของ เอ็นที ซึ่งได้มาตรฐานสากลด้านความปลอดภัย ISO 27001 และ CSA STAR เนื่องจากข้อมูลสุขภาพและประวัติการรักษาเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องมีระบบการจัดเก็บและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานสากล  ระบบ Health Link จึงใช้มาตรฐาน Fast Healthcare Interoperability Resources (FHIR) ซึ่งเป็นมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสุขภาพที่กำหนดโดยองค์กร Health Level Seven (HL7) International ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลก การเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ระบบ Health Link จะเกิดก็ต่อเมื่อผู้สนใจสมัครใช้งานและยินยอมให้โรงพยาบาลส่งข้อมูลประวัติการรักษาของตนเองเข้าระบบเท่านั้น โดยข้อมูลจะมีการเข้ารหัสในการจัดเก็บเพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล และผู้ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้จะต้องเป็นแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภาและปฏิบัติงานในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น อีกทั้ง Health Link ยังรองรับการตรวจสอบย้อนหลังการใช้งานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนระบบ ประชาชนและโรงพยาบาลที่ร่วมโครงการจึงสามารถเชื่อมั่นในการรักษาความปลอดภัยข้อมูลของระบบได้

ธีรณี อจลากุล

ด้าน รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบัน จีบีดีไอ กล่าวว่าการพัฒนาระบบเชื่อมโยงสุขภาพ ในระดับประเทศที่ผ่านมาเกิดได้ยาก โดยโจทย์สำคัญ คือการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล ที่ผ่านมาโรงพยาบาลต่างมีระบบเก็บข้อมูลผู้ป่วยของตัวเองหลากหลายรูปแบบที่แตกต่าง การแลกเปลี่ยนหรือส่งต่อข้อมูลมีขั้นตอนซับซ้อนและใช้เวลา เป็นอุปสรรคต่อการรักษาผู้ป่วยข้ามโรงพยาบาล เคสฉุกเฉินหรือการส่งผู้ป่วยข้ามจังหวัด ทำให้การรักษาล่าช้าและประชาชนไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร ระบบ Health Link ที่ออกแบบรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่ของโรงพยาบาลทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ  จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนามาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสุขภาพของประเทศไทยให้มีมาตรฐานในระดับสากล ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านข้อมูลสุขภาพของประเทศในภาพรวม 

“ปัจจุบันมีคนไทยสมัครเข้าใช้บริการในช่วงให้บริการอย่างไม่เป็นทางการแล้ว 4 หมื่นราย ภายในสิ้นปีนี้คาดว่าจะมีคนสมัครเพิ่มเป็น 1 แสนราย และเพิ่มเป็น 1 ล้านราย ภายในปีหน้า โดยคนไทยที่สมัครใช้งานจะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นและสามารถเลือกได้ว่าจะให้แพทย์เข้าถึงข้อมูลอะไรบ้างมากน้อยแค่ไหน โครงการจะมีการจัดโรดโชว์ตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้คนไทยเข้ามาใช้งานมากขึ้น และในอนาคตก็มีความเป็นไปได้จะมีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลประกันสังคม และบัตรทองและประกันต่างๆ”     

สำหรับผู้สนใจใช้บริการ Health Link ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถสมัครใช้บริการ ผ่านทางแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” เลือกเมนู “กระเป๋าสุขภาพ” กดเลือก “Health link”  ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.healthlink.go.th/patientinstruction