ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า จากการได้มาประชุมหารือและศึกษาแนวทางบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและการออกแบบสิงคโปร์เมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้เห็นมุมมองการพัฒนาเยาวชนที่สิงคโปร์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปพัฒนากิจกรรมเพิ่มประสบการณ์ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ภายใต้การดูแลของ สวทช. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ฝึกทักษะและพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับเด็กและเยาวชนผู้มีความสนใจและมีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วย ผอ.สวทช. กล่าวว่า ในการประชุมดังกล่าว ยังได้มีการลงนามความร่วมมือด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและการออกแบบสิงคโปร์ เป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาและส่งเสริมเยาวชนผ่านประสบการณ์จริงที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร มีโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม หรือ Fabrication Lab เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย ทั้งนี้ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร มีความพร้อมด้านเครื่องมือ เพื่อให้เยาวชนสามารถเปลี่ยนจินตนาการให้เป็นต้นแบบได้ โดยมีทั้งเครื่องพิมพ์สามมิติ เครื่องตัดด้วยเลเซอร์ และพื้นที่สำหรับการทำงานด้านการประดิษฐ์และเวิร์กช็อป โดยมีวิศวกรบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรให้คำปรึกษาแนะนำ
นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผอ.ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ กล่าวว่า โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม ได้จัดตั้งขึ้นในปี 2561 เพื่อพัฒนาทักษะสะเต็มและความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย และพัฒนากิจกรรมสำหรับนักเรียนและครู ให้มีทักษะด้านวิศวกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถออกแบบโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สร้างชิ้นงานโดยการใช้เครื่องมือทางวิศวกรรม และเครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ การดำเนินงานมีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาเข้าร่วมโครงการ 150 โรงเรียน และมีมหาวิทยาลัยทำหน้าที่มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง จำนวน 10 มหาวิทยาลัย มีผลงานนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์เกิดขึ้นจากนักเรียนในโรงเรียนที่ร่วมโครงการจำนวนกว่า 532 ผลงาน และส่งผลงานเข้าประกวดในเวทีระดับชาติและนานาชาติ 279 ผลงาน ตัวอย่างผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ได้ใช้ได้จริง ได้แก่ เครื่องอบสมุนไพร โดยวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร โรงเรือนเอื้องแซะ โดยโรงเรียนแม่สะเรียง “บริพัตรศึกษา” หุ่นยนต์ปลูกและดูแลพืชอัตโนมัติ ควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน โดยโรงเรียนสาธิตวิทยาการอิสลาม ม.สงขลานครินทร์ ระบบการแจ้งเตือนการตรวจจับการลอกคราบปูโดยอัตโนมัติผ่านแอปพลิเคชัน จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สตูล การติดตามบาตรพระ โดยใช้ GPS และเครื่องแยกขยะโดยใช้ AI โดยโรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ จังหวัดลำพูน เครื่องตรวจจับฝุ่น และรถเข็นอัจฉริยะสำหรับคนพิการ โดยโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี เครื่องสอนปั๊มหัวใจ โดยโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา หมวกนิรภัยอัจฉริยะสำหรับแจ้งเตือนภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ โดยโรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม อุปกรณ์ช่วยต่อลมหายใจฉุกเฉินในรถยนต์ โดยโรงเรียนวิสุทธรังสี เป็นต้น