เมื่อวันที่ 29 ม.ค. พล.ร.อ.พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมโครงการพัฒนางานและระบบบริหารจัดการด้านการบริหารงานบุคคลภายในสถานศึกษาของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ภายใต้แนวคิดผู้บริหารยุคใหม่ภูมิใจประวัติศาสตร์ว่า  ในฐานะที่ตนเข้ามารดูแลมูลนิธิราชประชานุเคราะห์  ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักสำคัญ คือ การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยทั่วประเทศ  พร้อมสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนทุกข์ยากเดือดร้อน และการให้การศึกษาแก่เด็กกำพร้า และไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด  ซึ่งตนเชื่อว่าโครงการนี้จะต่อยอดไปสู่นักเรียน เพื่อความมั่นคงแก่ประเทศชาติ

“ผมขอฝากให้ผู้บริหารสถานศึกษาทุกคนต้องพยายามเดินสำรวจโรงเรียนของตัวเอง ตรวจตราความเรียบร้อย ดูทั้งความสุข ความทุกข์ของนักเรียนและครู เพื่อจะดูว่าสภาพปัญหาภายในโรงเรียนของเราเป็นอย่างไร อย่าเป็นผู้บริหารที่นั่งอยู่บนหอคอยงาช้างและคอยสั่งการเพียงอย่างเดียว เพราะสมัยตนเป็นผู้บริหารโรงเรียนนายเรือมีพื้นที่โรงเรียนหลายร้อยไร่ ผมเดินตรวจโรงเรียนทุกซอกทุกมุม เพื่อให้ได้รู้ปัญหาของโรงเรียน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ผมลงไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์แห่งหนึ่ง โดยได้ลองสอบถามผู้บริหาร ครู และนักเรียนถึงปัญหาต่างๆ และการแก้ไขปัญหาภายในโรงเรียน และทุกคนตอบคำถามของผมได้หมด ซึ่งขอชื่นชมบริหารงานได้ดีมาก ดังนั้นขอให้ทุกคนสร้างความสุขให้เกิดขึ้นภายในโรงเรียนให้ได้ เพราะคนที่มุ่งทำลายชาติ จะมุ่งมาที่การศึกษา เราต้องมีรากเหง้าที่ดีมีความเป็นไทยจะไม่ทำลายชาติพันธุ์ของตัวเอง และขอให้ครูได้ปลุกเด็กไทยภูมิใจในภาษา สืบสานวัฒนธรรมไว้ สังคมเราเป็นพหุวัฒนธรรมไม่กลืนชาติ” องคมนตรี กล่าว

ด้านนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกศธ. กล่าวว่า  การประชุมครั้งนี้มุ่งหวังให้ผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด สศศ.มีความตระหนักมุ่งเน้นให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ศึกษาประวัติศาสตร์และเข้าใจประวัติศาสตร์อย่างถูกต้อง พร้อมนำความรู้สู่นักเรียนให้ภูมิใจประวัติศาสตร์ชาติไทย  ซึ่งตนขอย้ำว่าขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้ยกเลิกครูเข้าเวรแล้ว ดังนั้นฝากผู้บริหารสถานศึกษาให้ปฏิบัติตามมติครม.ด้วย แม้จะเปลี่ยนช่วงเปลี่ยนผ่านอาจทำให้เกิดปัญหาการบริหารจัดการบ้าง แต่หากมีเรื่องใดที่สถานศึกษาต้องการเพิ่มให้ทำเรื่องเสนอมาที่เขตพื้นที่ได้  เพราะเมื่อตอนที่เข้ามาทำงานศธ.ครั้งแรกก็พบว่าเสียงสะท้อนส่วนใหญ่ของปัญหาครูคือต้องการยกเลิกการเข้าเวรโรงเรียน

นายสิริพงศ์ กล่าวต่อไปว่า  ส่วนเรื่องการเรียนการสอนประวัติศาสตร์มีความสำคัญมาก และมักจะมีการตั้งคำถามจากนักเรียนว่าเรียนวิชานี้ไปทำไม ซึ่งตนอยากให้ครูปรับแนวคิดของเด็กว่าจะเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไปทำไม แต่ให้มองมุมใหม่ว่าการจะปลุกนักเรียนให้มีวินัยและหน้าที่พลเมืองรวมถึงการสร้างความสามัคคีได้จะต้องเริ่มต้นการเรียนวิชาอะไรมากกว่า แม้การเรียนวิชาประวัติศาสตร์จะเป็นเรื่องที่ล้าสมัยแต่อยากให้ผู้บริหารและครูทุกคนได้มองตัวอย่างของประเทศฝรั่งเศสที่ให้นักเรียนศึกษาเพลงชาติอย่างถ่องแท้ เพื่อให้รู้ถึงรากเหง้าของประเทศตัวเอง และให้เด็กแต่งชุดนักเรียนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ  ทั้งนี้ในปีการศึกษา 2568 ครูจะได้อุปกรณ์การสอนที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาการสอน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางการศึกษา ซึ่งขณะนี้ได้จัดทำคอนเทนต์การเรียนรู้ที่จะบรรจุไว้ในแท็บเล็ต เพื่อแจกครูและนักเรียนแล้ว  โดยในแท็บเล็ตจะมีแพลตฟอร์มการออกข้อสอบ ตรวจการบ้านนักเรียนได้ และสามารถเป็นตัวช่วยให้ครูได้ทราบว่านักเรียนของตัวเองมีจุดอ่อนในการเรียนวิชาไหนและไปเติมทักษะในการเรียนเพิ่มเติม และระบบการใช้งานจะมีการออนไลน์ตลอดเวลาของการสอน เพราะต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีมีประโยชน์มากต่อการจัดการศึกษา