ในขณะนี้กำลังเป็นที่ถกเถียงกันว่า เศรษฐกิจไทยวิกฤติหรือไม่ ขณะที่รัฐบาล โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ไม่สามารถให้ความเห็นได้ว่า เศรษฐกิจไทยวิกฤติ ซึ่งระบุว่าต้องให้ 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงบประมาณ เป็นผู้ออกความเห็น

วัตถุประสงค์หลักของคำถามว่า เศรษฐกิจไทยวิกฤติหรือไม่ ซึ่งไม่มีใครกล้าฟันธง เพราะจะถูกใช้เป็นเหตุผลหลักในการกู้เงินเพื่อใช้ตามนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทต่อคน และจะกู้มากถึง 500,000 ล้านบาท

ล่าสุดในงาน BOT Monthly Briefing โฆษกพบสื่อ เมื่อวันที่ 31 ม.ค.67 “ชญาวดี ชัยอนันต์” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวช่วงหนึ่งว่า “ส่วนเศรษฐกิจปัจจุบัน วิกฤติหรือไม่ คำว่าวิกฤติที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้ คือ มองในภาพรวม ดังนั้น จะต้องมีเครื่องชี้จากภาพรวม จีดีพีหดแรงแค่ไหน ขึ้นอยู่กับวิกฤตินั้นเป็นวิกฤติแบบไหน ซึ่งก็มีหลายแบบ โดยถ้ามองตอนนี้ก็ไม่ได้เติบโตช้ามาก หรือสะดุด แต่หากมองภาพย่อย รายคน รายธุรกิจ ก็มีความเดือดร้อนที่เราก็เห็น บางจุดมีความเดือดร้อนจริงๆ ต้องขึ้นอยู่กับว่าวัดตรงไหน ใช้ตรงไหน การจะตอบคำถามว่า วิกฤติ ว่าใช่หรือไม่ใช่ คงไม่ได้”

โฆษก ธปท. ยังระบุว่า ในระยะข้างหน้า คาดว่า เศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจคู่ค้าที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้า รวมถึงยังต้องติดตามการฟื้นตัวของการค้าโลก ผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และนโยบายของภาครัฐ

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 7 ก.พ.นี้ คาดว่าจะมีการปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 66 ชะลอลง จากปัจจุบัน 2.4% โดยยอมรับว่า จากเครื่องชี้ต่างๆ พบว่า ชะลอกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า และมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะชะลอกว่าที่คาด แต่จะเป็นเท่าไหร่นั้น คงต้องให้กนง.พิจารณา โดยการปรับประมาณการจีดีพีปี 66 ยอมรับว่า เครื่องชี้ไม่ได้ต่างจากกระทรวงการคลังมาก แต่ทั้งนี้ คงต้องอยู่ที่การพิจารณาของกนง.

ทั้งนี้ ในการประชุม กนง. วันที่ 7 ก.พ.67 จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจทั้งปี 66 และปี 67 โดยขึ้นอยู่กับ กนง.ที่จะพิจารณา โดยจีดีพี ปี 67 หากไม่รวมดิจิทัลวอลเล็ต คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.2%