สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) แจ้งว่า จากการตรวจสอบกรณีที่มีผู้เผยแพร่ภาพราคาตั๋วเครื่องบินเส้นทางภูเก็ต-กรุงเทพฯ ในสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมข้อความ “ตั๋วจากภูเก็ตไปกรุงเทพเที่ยวละเป็นหมื่น แล้วแบบนี้การท่องเที่ยวจะเป็นยังไง คนทั่วไปจะอยู่ยังไง” พบว่า มีการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และสร้างความสับสนให้กับประชาชน ซึ่งจากการตรวจสอบกับสายการบินที่ถูกอ้างอิงแล้วพบว่า ไม่มีการขายตั๋วที่ราคาสูงเช่นนั้น นอกจากนี้ยังได้ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ราคาตั๋วดังกล่าวเป็นการจองในช่วงเวลาวันศุกร์ที่มีความต้องการในการเดินทางสูง และเป็นช่วงเวลากระชั้นเพียง 2-3 วัน ซึ่งทำให้ตั๋วมีราคาสูง
ทั้งนี้ภูเก็ตเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมตลอดทั้งปี ในช่วงที่มีการร้องเรียนเป็นช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีน ทำให้ความต้องการเดินทางสูงกว่าปกติ จะเห็นว่าหากทำการจองล่วงหน้า 1 สัปดาห์ก่อนวันเดินทาง ราคาตั๋วจะพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากที่นั่งเหลือน้อย ประกอบกับปัจจุบันสายการบินมีอากาศยานไม่เพียงพอต่อความต้องการเดินทางในช่วงเทศกาล และอยู่ระหว่างการจัดหาอากาศยานเพิ่มเติมด้วย อย่างไรก็ตามกฎหมายการเดินอากาศได้กำหนดกลไกการควบคุมราคาค่าโดยสารเป็นเพดานขั้นสูงสุดไว้ โดยค่าโดยสารสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำ(โลว์คอส) ในเส้นทาง ภูเก็ต-กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) หรือ ภูเก็ต-กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) ต่อเที่ยว ถูกกำหนดไว้ที่ราคา 6,561 บาท หากเลือกจองทั้งขาไปและขากลับ จะอยู่ที่ราคา 13,122 บาท
ส่วนกรณีสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ(ฟูลเซอร์วิส) กพท. กำกับเพดานราคาค่าโดยสารในเส้นทาง ภูเก็ต-กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) ต่อเที่ยว อยู่ที่ราคา 9,074 บาท หากเลือกจองทั้งขาไป และขากลับ จะอยู่ที่ราคา 18,148 บาท ซึ่งอัตราดังกล่าวเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการบินพลเรือน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าโดยสารในเส้นทางภายในประเทศ พ.ศ. 2561 (ภาพที่ 1) โดยราคาดังกล่าวยังไม่รวมถึงรายการอื่นๆ เช่น ค่าภาษีสนามบิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการเลือกที่นั่ง เลือกอาหาร หรือการซื้อประกันภัย
กพท. ตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่พบปัญหาค่าโดยสารเครื่องบินแพง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลหยุดยาว ดังนั้น กพท. จึงเร่งทบทวนหลักเกณฑ์เรื่องการกำหนดเพดานค่าโดยสาร เพื่อให้หลักเกณฑ์ค่าโดยสารใหม่มีความเหมาะสม และเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามหากประชาชนพบเห็นการแสดงราคาตั๋วเครื่องบินที่ผิดปกติ ขอความร่วมมือทุกคนถ่ายภาพราคาที่แสดงเส้นทางการบิน (ขาเดียว หรือไปกลับ) รวมถึงภาพที่มีการแสดงราคาสุดท้าย ซึ่งมีรายการย่อยประเภทต่างๆ เช่น ค่าภาษีสนามบิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกันภัย ฯลฯ เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ โดยสามารถ ส่งข้อมูลผ่านระบบแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ที่ www.caat.or.th/complaint ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการพิจารณา และเป็นหลักฐานในการลงโทษสายการบินได้ หากพบว่ามีการจำหน่ายในราคาที่เกินจากกฎหมายกำหนด.