เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่รัฐสภา นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา เปิดเผยว่า ตนเตรียมเสนอผลการศึกษาการให้ความคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อวุฒิสภา โดยหยิบยกกรณีศึกษาจากต่างประเทศมาเปรียบเทียบชี้ให้เห็น โดยเชื่อว่าผลศึกษาจะเป็นการตอบคำถามข้อสงสัยของสังคมไทย ส่วนกรณีการคุกคามขบวนเสด็จนั้น ตนขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้การแสดงออกจะเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่ในข้อเท็จจริง เป็นการอ้างสิทธิการแสดงออก ไม่ตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งในวันดังกล่าว ขบวนเสด็จพระราชดำเนินไม่ได้มีการปิดถนน ตำรวจใช้มาตรการถวายความปลอดภัยให้สมดุลกับการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน เชื่อว่าวิญญูชนที่รับทราบเหตุการณ์ จะตัดสินเองได้ว่าเกิดอะไรขึ้น

นายสุวพันธุ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่การทำโพลของกลุ่มทะลุวัง ตนถือว่าไม่ควรทำ เชื่อว่าทางการข่าวตำรวจรับรู้รับทราบการเคลื่อนไหวชุมนุม และเป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องดูแล เจรจาไม่ให้มวลชน 2 ฝ่าย มาปะทะกัน ยืนยันว่าการเคลื่อนไหวการเมืองทำได้ แต่ต้องพอเหมาะ ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งบานปลายไปสู่ความรุนแรง ก็จะทำให้การเคลื่อนไหวตามสิทธิเสรีภาพเป็นไปด้วยความราบรื่น ซึ่งวิธีจัดการปัญหาความขัดแย้งที่ดีที่สุด คือพูดคุยในที่ลับดีกว่าการเปิดเวทีสาธารณะ

“โพลเรื่องขบวนเสด็จควรทำหรือไม่นั้น ขอให้สังคมไปคิดเอาเองว่าควรทำหรือไม่ ผมไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง ต้องไม่ใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเห็นต่าง ต้องมีความยับยั้งชั่งใจ” นายสุวพันธุ์ กล่าว

นายสุวพันธุ์ กล่าวถึง การเดินหน้าศึกษาการตรากฎหมายนิรโทษกรรมว่า ส่วนตัวไม่สามารถตอบได้ว่าจะสนับสนุนการนิรโทษกรรมหรือไม่ เพียงแต่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ส่วนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ใช่ต้นเหตุของความขัดแย้ง ซึ่งกฎหมายนิรโทษกรรมควรจะมีหรือไม่ ต้องกลับไปดูว่า มีคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมหรือไม่ จากความขัดแย้งที่เป็นมาในอดีต ถ้ามีแล้วความยุติธรรมนั้นเกิดจากข้อกฎหมาย ต้องหากฎหมายมาแก้ คือนำกฎหมายนิรโทษกรรมมาใช้ แต่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงพูดไม่ได้เต็มที่ ถามว่าสนับสนุนกฎหมายนิรโทษกรรมหรือไม่ ผมตอบไม่ได้ว่าสนับสนุน แต่ผมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

นายสุวพันธุ์ กล่าวถึงข้อถกเถียงการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ต้องโทษในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า มีการกระทำความผิดจริงหรือไม่ ซึ่งคดีนี้เป็นความผิดเกี่ยวกับการดูหมิ่นอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการฯ ต้องถามว่าความผิดเกินพอดีหรือไม่ และหากศาลชี้ว่ามีการกระทำผิดจริง ควรได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ หรือหากได้รับการนิรโทษกรรมแล้วจะกลับไปทำอีกหรือไม่.