เรียกได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และเป็นเรื่องราวที่ประชาชนหลายคนกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ สำหรับสถานการณ์ฝนตกหนักเนื่องจากมรสุมก่อตัวพาดผ่านมายังหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย ส่งผลให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยถูกมวลน้ำหลากเข้าท่วมสูงและกระแสน้ำมีความรุนแรงมาก จนรถเล็กและรถขนาดใหญ่ไม่สามารถใช้สัญจรผ่านไปมาได้ แถมกระทบการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนเป็นอย่างมาก

ซึ่งภัยธรรมชาติเหล่านี้ที่เกิดขึ้น เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และสวัสดิภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและความเสียหายต่อทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม ตลอดจนระบบการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข

นอกจากนี้ ยังทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ อันตราย สูญเสียชีวิต และทรัพย์สินเป็นอย่างมาก พื้นที่การเกษตร ได้รับความเสียหาย สัตว์เลี้ยงต่างๆ จมน้ำตายเป็นจำนวนมาก ราษฎรเดือดร้อน ขาดปัจจัยที่จะนำมาทำอาหาร และสิ่งของจำเป็นในการยังชีพด้วยแล้วนั้น

วันนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” จึงได้รวบรวมอันตราย และโรคที่มากับสถานการณ์น้ำท่วม เพื่อไว้ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นกับเรา ว่าแต่จะมีอะไรบ้าง ตามมาอ่านกันได้เลย!

สำหรับอันตรายแรกที่ควรระวังนั้นก็คือ ปัญหาสุขภาพที่มาพร้อมกับน้ำท่วม เนื่องจากปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นมักชะล้างเอาสิ่งสกปรกและเชื้อโรคจากที่ต่าง ๆ มารวมกัน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแพร่พันธุ์ของแมลงที่เป็นพาหะนำโรค เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสด้วย โดยโรคที่ควรพึงระวังมีดังนี้

1. โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อราและแผลพุพองเป็นหนอง ซึ่งเกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรคหรืออับชื้นจากเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายที่ไม่สะอาดเป็นเวลานาน โดยจะมีอาการเท้าเปื่อย เป็นหนอง และเริ่มคันตามซอกนิ้วเท้า ผิวหนังลอกเป็นขุย จากนั้นผิวหนังจะพุพอง นิ้วเท้าหนาและแตก มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนคือผิวหนังอักเสบ ป้องกัน ได้ด้วยการเช็ดเท้าให้แห้ง หากมีบาดแผลควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อ

2. โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อได้ทุกเพศทุกวัย แพร่กระจายในลมหายใจ เสมหะ น้ำลาย อาการมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ไอจาม อ่อนเพลีย ป้องกัน ได้ด้วยใช้ผ้าปิดปากเวลาไอจาม ดื่มน้ำอุ่นมากๆ มีไข้สูงเกิน 7 วันควรพบแพทย์

3.โรคปอดบวมเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอด เช่น น้ำสกปรกจนทำให้เกิดการอักเสบ อาการไข้สูง ไอมาก หอบ หายใจเร็ว เห็นชายโครงบุ๋ม ริมผีปากซีดหรือเขียวคล้ำ กระสับกระส่ายหรือซึม หากมีอาการควรรีบพบแพทย์ทันที

4.โรคตาแดง ติดต่อได้ง่ายในเด็กเล็กแต่เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายรุนแรง ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส แต่หากไม่ได้รับการรักษาอาจมีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ อาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 1-2 วัน จะมีอาการระคายเคือง ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง ทั้งนี้ในหากดูแลถูกวิธีจะหายได้ใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ดูแลอาจเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น กระจกตาดำอักเสบ ทั้งนี้ ป้องกัน ได้ด้วยการล้างดวงตาให้สะอาดเมื่อถูกฝุ่นละออง หมั่นล้างมือบ่อยๆ ไม่ควรขยี้ตา

5.โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น อาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารค้างคืนหรือเน่าบูด แบ่งออกเป็นหลายโรค ได้แก่

โรคอุจจาระร่วง อาการถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ อาจมีมูกเลือดและมีการอาเจียนร่วมด้วย

อหิวาตกโรค จะถ่ายเป็นน้ำคล้ายน้ำซาวข้าวทีละมากๆ อาการรุนแรง

อาหารเป็นพิษ มักมีอาการปวดท้องร่วมกับการถ่ายอุจจาระเหลว คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการปวดศีรษะและเมื่อยเนื้อตัวร่วมด้วย โรคบิด จะถ่ายอุจจาระมีมูกหรือเลือดปน มีไข้ ปวดท้องและมีปวดเบ่งร่วมด้วย โรคไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย มีอาการสำคัญคือมีไข้ เบื่ออาหาร ท้องผูก เมื่อยเนื้อตัว ปวดศีรษะ

ป้องกัน ได้โดยล้างมือให้สะอาด เลือกรับประทานอาหาร กำจัดสิ่งปฏิกูล ขยะมูลฝอย เพื่อไม่ให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวัน แต่หากป่วยจำเป็นต้องดื่มน้ำหรืออาหารเหลวมากๆ รวมทั้งดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) ด้วย

6.โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน มีหนูเป็นตัวแพร่โรคที่สำคัญ เชื้อออกมากับปัสสาวะสัตว์แล้วปนเปื้อนในน้ำท่วมขัง โดยโรคนี้จะติดต่อทางบาดแผล รอยขีดข่วน หรือไชเข้าตามเยื่อบุตา จมูก ปาก หรือผิวหนังที่แช่น้ำนานๆ อาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 4-10 วัน จะมีไข้สูงทันที ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และศีรษะมาก บางรายมีอาการตาแดง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ท้องเดินร่วมด้วย จำเป็นต้องรีบพบแพทย์ มิเช่นนั้นอาจถึงขั้นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตามสามารถ ป้องกัน ได้โดยสมรองเท้าบู๊ตยางกันน้ำ ทำความสะอาดที่พักไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของหนู

7.โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะพบได้ทุกวัยในทุกพื้นที่ มีอาการไข้สูงตลอดทั้งวัน หน้าแดง เกิดจุดแดงๆ เล็กๆ ตามลำตัว ต่อมาไข้จะลดลง ซึ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะอาจเกิดอาการรุนแรง มีความผิดปกติ เช่น ถ่ายดำ ไอปนเลือด เกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ การรักษา ห้ามใช้ยาแอสไพริน และระวังไม่ให้ถูกยุงกัด

8.โรคหัด เป็นโรคไข้ออกผื่นที่พบในเด็ก เกิดจากเชื้อไวรัส มักพบในฤดูฝน หากมีการแทรกซ้อนอาจเสียชีวิตได้ สำหรับการติดต่อผ่านทางการไอจาม เชื้อกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย อาการหลังจากได้รับเชื้อ 8-12 วัน มีไข้ ตาแดง พบจุดขาวๆ เล็กๆ ในกระพุ้งแก้ม ป้องกัน ได้โดยฉีดวัคซีน หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย

9. โรคไข้มาลาเรีย ติดต่อโดยยุงก้นปล่องเป็นพาหะนำเชื้อโรค มักพบในพื้นที่ป่าเขามีแหล่งน้ำจืดธรรมชาติ อาการหลังรับเชื้อ 7-10 วัน จะปวดศีรษะ โดยทั่วไปคล้ายไข้หวัด แต่หลังจากนั้นจะหนาวสั่นและไข้สูงตลอดเวลา อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต ป้องกันโดยหลีกเลี่ยงยุงด้วยการทายาหรือสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด

นอกจากน้ำท่วมขังจะนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ยังมีอุบัติเหตุอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้นด้วย ดังนี้

1.จมน้ำ ระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้ความเสี่ยงของจมน้ำเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในเด็กและผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมจึงควรระมัดระวังและป้องกันด้วยการหลีกเลี่ยงการลงไปเล่นน้ำ เตรียมอุปกรณ์กู้ชีพ อย่างห่วงยางหรือเสื้อชูชีพติดบ้านไว้เสมอ ไม่ปล่อยเด็กให้อยู่คนเดียวตามลำพัง ผู้ที่เป็นโรคที่อาจหมดสติหรือหกล้มไม่ควรเข้าใกล้พื้นที่ที่เสี่ยงต่อการพลัดตกน้ำ อย่างระเบียงหรือบันไดบ้าน รวมทั้งศึกษาวิธีการปฐมพยาบาลและการช่วยคนขึ้นจากน้ำเผื่อไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์เพราะอาจทำให้พลัดตกและจมน้ำได้

หากพบคนกำลังจมน้ำควรใช้อุปกรณ์ อย่างห่วงยาง แกลลอนน้ำ ไม้ หรือเชือก เพื่อให้คนจมน้ำจับ หรือใช้คล้องเพื่อดึงผู้ประสบเหตุขึ้นจากน้ำ และปฐมพยาบาลด้วยวิธี CPR และนำส่งโรงพยาบาล

2.โดนสัตว์มีพิษกัดต่อย ในช่วงที่น้ำท่วม สัตว์มีพิษ อย่างตะขาบ แมงป่อง และงู มักหนีน้ำเข้ามาอยู่ตามที่พักอาศัยของมนุษย์ ซึ่งหากไม่สังเกตและไม่ระวังก็อาจโดนสัตว์มีพิษเหล่านี้กัดต่อยและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ จึงควรระมัดระวังและสอดส่องตามมุมอับภายในบ้านเพื่อตรวจดูสัตว์มีพิษ รวมทั้งเตรียมเบอร์ของหน่วยงานที่สามารถช่วยจับสัตว์มีพิษและเบอร์ของโรงพยาบาลสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน

หากโดนสัตว์มีพิษหรือคาดว่ามีพิษกัด ห้ามใช้ปากดูดพิษโดยเด็ดขาด ควรใช้น้ำสะอาดหรือน้ำด่างทับทิมล้างแผล จากนั้นใช้ผ้าซับให้แห้ง ใช้แอลกอฮอล์เช็ดรอบบาดแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ใช้ผ้ารัดเหนือแผลปากให้แน่น และนำตัวส่งโรงพยาบาล

3.ไฟดูด เป็นอีกหนึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ในช่วงน้ำท่วม เนื่องจากน้ำเป็นตัวน้ำไฟฟ้า เมื่อเข้าไปยังบริเวณใกล้เคียงบริเวณที่มีไฟฟ้ารั่วก็อาจทำให้โดนไฟดูดได้ การถูกไฟดูดอาจทำให้เนื้อเยื่อและอวัยวะได้รับความเสียหาย ส่งผลให้ผิวหนังไหม้ รู้สึกเหน็บชาตามร่างกาย การมองเห็นหรือได้ยินมีปัญหา ชัก หมดสติ และหยุดหายใจ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้ การสัมผัสกับปลั๊กเสียบหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าขณะตัวเปียกก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการโดนไฟดูดด้วย

หากพบคนโดนไฟดูด ห้ามแตะตัวหรือเข้าไปยังบริเวณใกล้เคียงผู้ประสบเหตุ ควรปิดตัวจ่ายไฟก่อน จากนั้นใช้ไม้หรืออุปกรณ์อื่น ๆ คล้องและดึงผู้ป่วยออกมาจากบริเวณที่มีไฟรั่ว หากมีแผลไหม้ ควรทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดและพันแผล หากผู้ป่วยหมดสติอาจทำการกู้ชีพเบื้องต้นด้วยวิธี CPR จากนั้นนำตัวส่งโรงพยาบาลหรือติดต่อหน่วยพยาบาลฉุกเฉิน นอกจากนี้ ควรป้องกันการโดนไฟฟ้าดูดด้วยการหมั่นสังเกตการชำรุดของสายไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้า เดินสายดิน ไม่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าขณะตัวเปียก และติดตั้งเครื่องตัดไฟเมื่อไฟฟ้าลัดวงจร..

อย่างไรก็ตาม สำหรับวิธีรับมือปัญหาสุขภาพและอุบัติเหตุในช่วงน้ำท่วม สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยวิธีการ ดังนี้

1.ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับภัยพิบัติอยู่เสมอ

2.ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานและปรุงอาหาร

3.ตรวจสอบสภาพของบรรจุภัณฑ์และวันหมดอายุของอาหารแห้งที่สำรองไว้

4.ใช้น้ำสะอาดในการล้างวัตถุดิบ

5.รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ทุกครั้ง และดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุกเสมอ

6.รักษาความสะอาดของร่างกายอยู่เสมอ โดยเฉพาะมือและเท้า

7.สวมเสื้อชูชีพเมื่อต้องสัมผัสกับน้ำที่ท่วมขัง

8.กางมุ้งนอนอยู่ตลอด พร้อมกับทาโลชั่นกันยุงระหว่างวัน

9.ล้างมือหลังเข้าห้องน้ำและสัมผัสกับน้ำท่วมขังทุกครั้ง

10.กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและแมลงที่เป็นพาหะนำโรค

11.กำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลอย่างเหมาะสม

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ : pixabay, โรงพยาบาลกลาง สํานักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร, pobpad