ซึ่งผมก็เฝ้ารอฟังมากว่า 10 ปีแล้ว และก็ยังคงตื่นเต้นเสมอที่ได้ฟัง โดยปีนี้อาจารย์พิพัฒน์ จั่วหัวว่าเป็นยุค “Who Cares Earn” องค์กรใดใส่ใจโลก…องค์กรนั้นได้กำไร ผมถามอาจารย์พิพัฒน์ว่ามันต่างกับ “Who Care Win” ที่ UN ที่ World Bank และเครือข่าย Global Compact พยายามผลักดันให้บริษัทต่าง ๆ ขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคม CSR ในยุคต้นศตวรรษที่ 21 อย่างไร?
ซึ่งอาจารย์พิพัฒน์บอกว่า ยุคนั้นองค์กรระหว่างประเทศพยายามผลักดันเรื่องความยั่งยืน ผ่านแนวทาง CSR และในการประชุมกันช่วงนั้น ก็เกิดคำว่า “ESG” แต่ยังไม่เป็นที่นิยม จนผ่านมา 20 ปีให้หลัง ESG กลายเป็นมาตรฐานสากลที่นักลงทุนให้ความสนใจ และเป็นปัจจัยหลักในการเลือกลงทุน ซึ่งอาจารย์พิพัฒน์ ขยายความต่อว่าองค์กรใดที่ใส่ใจโลก จะได้ผลประโยชน์เป็นพิเศษ เช่น มีแหล่งทุนสนับสนุน มีเงินกู้ดอกเบี้ยตํ่าจากธนาคาร มีผู้สนใจลงทุนในกิจการ มีลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่สนใจเลือกซื้อสินค้าและบริการ เป็นต้น
สำหรับ “6 แนวทางความยั่งยืน” ในปีนี้ ได้แก่ 1.ใช้ ESG เป็นใบอนุญาตเพื่อรับผลตอบแทน 2.แสดงทวิสารัตถภาพในรายงานเดียว 3.รวมมลอากาศในขอบเขตที่ 3 สู่เป้าสุทธิเป็นศูนย์4.การกำกับดูแลยิ่งอ่อนแอ การฟอกเขียวยิ่งเข้มข้น 5.ให้ธรรมชาติกำไรเป็นจริงในบรรทัดสุดท้าย 6.ให้ความเชื่อมั่นในข้อมูลความยั่งยืนที่เปิดเผย ซึ่งทั้งหมดนี้ผมเห็นด้วย 100% แต่พอมองกลับไปดูผู้มาร่วมฟังคำบรรยาย ผมสังเกตว่ากว่า 90% เป็นคนทำงานด้านความยั่งยืนยุคใหม่ มีนัก CSR ยุคดึกดำบรรพ์แบบผมไม่ถึง 10 คน ผมเคยพบนัก Sustain รุ่นใหม่ ๆ นี้ในหลายเวที พวกเขาเก่งมาก และสนใจ Tool Set ใหม่ ๆ จะต้องทำ Checklist ให้ครบถ้วนถูกต้อง ตอบโจทย์ตามที่เจ้านายสั่งให้ Care และจะเน้นการ Care เท่าที่มาตรฐานที่นักลงทุน Care
สำหรับนัก Sustain ยุคโบราณแบบผม แค่ Care ใส่ใจยังไม่พอ แต่ต้อง Dare ด้วย ต้องกล้าพอที่จะทำสิ่งที่ถูกต้องเต็มศักยภาพขององค์กร ต้องต่อรองกับเจ้านายให้ได้ว่า โลกใบนี้ต้องการอะไร บางอย่างที่โลกต้องการ นักลงทุนอาจจะยังไม่ให้นํ้าหนักใน Checklist ก็ได้ นอกจากจะไปในทิศทาง “Who Cares Earn” แล้วยังต้องเร่งเครื่องให้เป็น “Who Dares Will Be Super Heroes” อีกด้วย.