ถือเป็นเทคโนโลยีที่มาแรงและเป็นกระแสมากจริงๆ ไปทั่วโลก สำหรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI)
โดยเฉพาะการมาของ Generative AI (Gen-AI) ที่ได้เริ่มมีการนำ Gen-AI ไปใช้งานในหลายอุตสาหกรรม เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพขององค์ธุรกิจ
แนวโน้มของเทคโนโลยีสุดฮอตนี้จะเป็นอย่างไร? วันนี้ คอลัมน์ “ชีวิตติด TECH” มีมุมมองของ “กูรู” ในเรื่องนี้
โดย “รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์” Executive Director สถาบันไอเอ็มซี กล่าวในเวทีให้ความรู้ภายใต้หัวข้อ “Navigating AI Frontier” จัดโดย ทีซีซี เทคโนโลยี และเดลล์ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย)
ผู้บริหาร สถาบันไอเอ็มซี บอกว่า เทคโนโลยี AI ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมานานแล้ว ในยุคแรกจะทำงานด้วย ระบบ Rule-Based คือ การป้อนข้อมูลและชุดคำสั่งผ่านเงื่อนไขหรือกฎที่กำหนดเอาไว้ ขณะที่ Machine Learning คือ การให้แมชชีนเรียนรู้ได้ มีเหตุมีผล และปรับตัวเองได้ แต่ที่ผ่านมายังมีข้อจำกัด เพราะยังไม่มีคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงรองรับการประมวลผลในระดับนั้น!!

“ในช่วงเวลาไม่มีปีที่ผ่านมา AI ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ด้วยการทุ่มเม็ดเงินลงทุนในการวิจัยและพัฒนามูลค่ามหาศาล ทั้งในภาคธุรกิจและภาคการศึกษา และที่สำคัญก็คือ การเปิดให้ใช้งาน ChatGPT อย่างแพร่หลาย ทั้งในระดับบุคคลและองค์กร นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้จำนวนผู้ใช้งานแตะทะลุระดับร้อยล้านในเวลาอันสั้นๆ และคาดการณ์ว่าเทรนด์นี้จะคงอยู่ต่อไปอีกหลายปี!”
ความสามารถของ AI ที่สุดล้ำ มีหลายอย่าง ทั้งการจดจำใบหน้า (Facial Recognition) การจดจำเสียงพูด (Speech Recognition) และการเข้าใจภาษา (Language Understanding) ทั้งหมดถูกพัฒนาก้าวล้ำไปถึงระดับ Reasoning Based AI หรือการพูดคุยโต้ตอบอย่างมีเหตุมีผล!?!
“รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์” บอกต่อว่า หากเทียบความฉลาดของ AI นั้น เทคโนโลยีนี้มีแนวโน้มจะพัฒนาความฉลาดมากเรื่อย ๆ โดยแบ่งเป็นระดับ คือ AGI (Artificial General Intelligence: AI ที่มีความฉลาดเทียบเท่ามนุษย์ และ ASI (Artificial Super Intelligence หรือ Super AI : ซึ่งจะเป็น AI ที่มีขีดความสามารถเหนือมนุษย์ในทุกด้าน!!
หลายๆ คนอาจสงสัยความชาญฉลาดของ AI มาจากไหน? เกิดจากอะไร? ทางผู้บริหารของ สถาบันไอเอ็มซี อธิบายว่า เกิดจากปัจจัยหลัก คือ อัลกอริทึม (Algorithm) ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ข้อมูล (Data) ที่มีปริมาณมากมายมหาศาล อุปกรณ์ (Hardware) รวมถึงชิปประมวลผลที่มีประสิทธิภาพทรงพลังยิ่งขึ้น และชุมชนผู้ใช้งาน (Community) หรือจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ที่เพิ่มมากขึ้น!?!

ผู้บริหาร สถาบันไอเอ็มซี ยังให้มุมมองอีกว่า ปัจจุบันเหล่าประเทศมหาอำนาจต่างมุ่งพัฒนา AI จนเกิดเป็นวลีฮิตที่ว่า “AI First” เพื่อสร้างความได้เปรียบทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์
ประเทศไทย จำเป็นที่จะต้องหาวิธีการรับมือกับ AI ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การกำกับดูแล (Governance) เพื่อควบคุมการใช้งาน AI ให้เหมาะสม ความปลอดภัย (Security) ป้องกันภัยคุกคามจากการใช้งาน AI โดยผู้ไม่ประสงค์ดี และการสูญเสียอาชีพ (Job Loss) จากระบบอัตโนมัติ ซึ่งแรงงานต้องเร่งปรับตัวทั้ง Reskill & Upskill
อย่างไรก็ตาม การมาของ AI ประเทศไทยจะหยิบฉวยความโดดเด่นชาญฉลาด มาช่วยให้ประเทศไทยได้ประโยชน์อย่างไร ในมุมมองของภาครัฐนั้น ทาง “ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์” ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ได้แบ่งปันมุมมอง ในงาน TH.ai Forum EP01: AI Trend in Agriculture จัดโดย TH.ai
ผอ.ใหญ่ดีป้า บอกว่า AI ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีพัฒนาการก้าวกระโดดและส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศ

ขณะที่ปริมาณความต้องการใช้เทคโนโลยีเอไอในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมไทย มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ในทางกลับกัน ประเทศไทยยังขาดแคลนเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) ที่เกิดจากการพัฒนาโดยฝีมือคนไทย? ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ!!
ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องขับเคลื่อน 5 องค์ประกอบสำคัญ เพื่อให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดังกล่าว และรองรับความต้องการของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับเอไอจากนอกประเทศ (AI Importer) การส่งเสริมการพัฒนาเอไอภายในประเทศ (AI Provider) การประยุกต์ใช้เอไอเพื่อพัฒนาบริการดิจิทัล (AI Distributor) การยกระดับกำลังคนดิจิทัลสาขาเอไอ (AI Manpower) การสร้างความตระหนักรู้แก่คนไทยเพื่อประยุกต์ใช้เอไออย่างปลอดภัย (AI User)
ที่สำคัญสุด คือ ควรวางแนวทางการประยุกต์ใช้เอไอในด้านต่าง ๆ เช่น Generative AI Guideline, Responsible AI Guideline, AI Ethics Guideline Synthesis AI Guideline และ AI Algorithms Guideline

“ปัจจุบันไทยได้มีการจัดตั้ง เครือข่าย TH.ai เป็นการรวมตัวกันของหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีเอไอของประเทศในทุกมิติผ่านแผนการส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาที่ชัดเจน ซึ่งกิจกรรมภายใต้เครือข่ายที่จัดขึ้น จะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศสามารถเข้าถึงและเข้าใจเทคโนโลยีเอไอ ก่อนนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้องและตรงจุด อีกทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ให้กับประเทศในอนาคต” ผู้อำนวยการใหญ่ดีป้า กล่าว
นอกจากนี้ทาง กระทรวงดีอี โดย ดีป้า อยู่ระหว่างเสนอให้มีการปรับองค์ประกอบของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) และร่วมจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ
เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานด้านเอไออย่างเป็นรูปธรรมต่อไป!?!
Cyber Daily