ทาง เดลินิวส์ออนไลน์ ได้รับเกียรติจากทาง ภาควิชาอินเทอร์แอคทีฟและเกม คณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม ในการรับเชิญเข้าไปร่วมอีเวนต์ Sripatum Esports Festival 2024 ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 3 และ 4 รวมถึงคณาจารย์จากคณะดิจิทัลมีเดีย ในวันที่ 28 มีนาคม 2024 โดยภายในงานจะมีการจัดการแข่งขันเกม VALORANT และเกมมือถือ RoV รอบไฟนอล ของนักเรียนและนักศึกษาจากทั่วประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมรายการ

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดกิจกรรมและเวิร์กช็อปสุดพิเศษมากมายจากทางผู้สนับสนุนหลักของอีเวนต์อย่าง MSI รวมถึงยังมีการจัดกิจกรรมพิเศษจากทาง Intel, Gamiqo, Huawei AppGallery และ กทม. ร่วมกับ บริษัท สถานีรีไซเคิล สุวรรณภูมิจำกัด ตามด้วย โซนขายสินค้า (Student Market) ของนักศึกษามหาวิทยาลัยศรีปทุม พร้อมกับ กิจกรรมมินิเกมและลุ้นรางวัล Lucky Draw จากทางภาควิชา มาร่วมจัดอยู่ในอีเวนต์ด้วย

บรรยากาศการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ จะมีทั้งกลุ่มนักเรียน นักศึกษาและผู้ที่สนใจจากทั่วประเทศได้เข้าร่วมงานและได้รับชมการแข่งขันเกม VALORANT และ RoV ในรอบไฟนอล รวมถึงมีการเข้าร่วมกิจกรรมสุดพิเศษของทางอีเวนต์กันตลอดระยะเวลาของกิจกรรม

เดลินิวส์ออนไลน์ ได้รับโอกาสในการสัมภาษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาอินเทอร์แอคทีฟและเกม คณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม ถึงสองท่าน คือ อาจารย์นภนต์ คุณะนิติสาร อาจารย์ประจำภาควิชา และ อาจารย์สุธิสา มักเจริญผล อาจารย์พิเศษของภาควิชา

อาจารย์ทั้งสองท่าน ได้อธิบายให้กับทางเราทราบในแนวทางเดียวกันว่า อีเวนต์นี้เป็น “โปรเจกต์จบ” (Thesis) ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ในภาควิชา นักศึกษาจะได้นำความรู้ทั้งหมดที่ได้เรียนรู้มากับทางภาควิชาอินเทอร์แอคทีฟและเกม มาใช้งานให้เกิดเป็นอีเวนต์รูปแบบจริงขึ้นมา โดยจะมีนักศึกษาชั้นปีที่ 3 มาร่วมทำงานกับรุ่นพี่ด้วย พร้อมกับมีการแบ่งให้ทางปี 4 จัดการแข่งขัน VALORANT ขึ้นมา ในขณะที่รุ่นน้องปี 3 จะไปจัดการแข่งขัน RoV อยู่ในอีเวนต์เดียวกัน

ทั้งนี้ ทางคณาจารย์ของภาควิชาได้มีการวางแผนในระยะยาวให้นักศึกษาในรุ่นถัดไปที่จะก้าวขึ้นสู่ปี 3 และปี 4 ได้รับโอกาสในการเข้ามาจัดอีเวนต์ Esports Festival ของทางมหาวิทยาลัยต่อไปอีกด้วย

การเตรียมการจัดอีเวนต์ Sripatum Esports Festival 2024 เริ่มโดยกลุ่มนักศึกษา ภาควิชาอินเทอร์แอคทีฟและเกม คณะดิจิทัลมีเดีย ชั้นปีที่ 4 มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2024 โดยจะต้องมีการเริ่มวางแผนการทำงานในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ก่อนเริ่มงานจบถึงช่วงหลังจบงาน ไม่ว่าจะเป็นการเขียน Proposal ด้วยตัวเอง เพื่อของบประมาณในการจัดอีเวนต์จากทางสปอนเซอร์ โดยมีการระบุรายละเอียดทุกอย่างไว้ชัดเจน เพื่อให้ทางสปอนเซอร์หลักอย่าง MSI เห็นสมควรพิจารณาสนับสนุนให้อีเวนต์เกิดขึ้นจริง

นอกจากนี้ ก็จะมีการสอนให้นักศึกษาเข้าใจเรื่องการวางแผนทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังการจัดงานทุกขั้นตอนให้มีรูปแบบการทำงานที่ชัดเจนและมีความเป็นมืออาชีพ

รูปแบบการจัดอีเวนต์นี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าใจบริบทของการทำงานจริงในด้านอีสปอร์ตอีกด้วย เพราะทางภาควิชาไม่ได้เน้นการสร้าง “นักกีฬาอีสปอร์ต” แต่จะเน้นการสอนให้เป็น “บุคลากรในแวดวงอีสปอร์ต” ขึ้นมาเป็นหลัก แต่เดิมนั้นทางภาควิชาเคยมีความตั้งใจเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ในการสร้างนักศึกษาไปเป็นนักกีฬา แต่มันกลายเป็นสิ่งที่ชวนให้ผู้ปกครองเริ่มตั้งคำถามว่า “นักศึกษาทุกคนที่มาเรียนจะต้องไปเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตจริงหรือ?”

จนต่อมา ทางคณาจารย์ได้มีการประชุมหารือกันใหม่ รวมถึงยังมีการไปศึกษาตามอีเวนต์การแข่งขันอีสปอร์ตเพิ่มเติม แล้วได้ข้อสรุปว่า ทางภาควิชาควรจะมีการเปลี่ยนรูปแบบการสอนให้มีการผลักดันนักศึกษาไปเป็นบุคลากรทุกรูปแบบในอุตสาหกรรมอีสปอร์ตแทน โดยจะมีการสอนและให้ลองทำงานจริงมาตั้งแต่ปี 2 เป็นต้นไป เพื่อให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์จริงในการทำงานด้านอีสปอร์ต

นี่คือความท้าทายที่นักศึกษาในภาควิชาจะต้องร่วมกันวางแผนและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยทางคณาจารย์ได้มีการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้จัดทำอีเวนต์ของตัวเองขึ้นมาจริง ๆ ในระยะเวลาที่กำหนดไว้ พร้อมกับช่วยสนับสนุนในภาพรวมทั้งหมดเพื่อให้งานสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

ก่อนหน้านี้ ทางภาควิชา เคยมีแผนที่จะไปจัดอีเวนต์ที่สตูดิโอของทาง AIS แต่ต้องพบเจอกับปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ทำให้การจัดอีเวนต์ต่าง ๆ ในช่วงนั้นต้องถูกเลื่อนหรือยกเลิกไป แล้วหลังจากช่วงโรคระบาดจบลง ทางภาควิชาได้มีการจัดอีเวนต์ขึ้นอีกครั้ง โดยมีการย้ายจากการไปจัดข้างนอก สู่การเข้ามาจัดในพื้นที่ของทางมหาวิทยาลัยแทน

ทางผู้สนับสนุนต่าง ๆ เล็งเห็นถึงความสำคัญในด้านการศึกษาของทางภาควิชา ที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในอุตสาหกรรมอีสปอร์ตได้ ทำให้องค์กรเหล่านี้มีความสนใจที่จะช่วยสนับสนุนการสร้างอีเวนต์เพื่อเป็นอีกแรงผลักดันสำคัญให้นักศึกษาสามารถฝึกฝนและหาประสบการณ์การทำงานรูปแบบจริงได้

นอกจากนี้ นี่จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สนับสนุนจากภายนอก หรือองค์กรต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมเกมสามารถจ้างนักศึกษาเหล่านี้หลังจากจบการศึกษาไป โดยไม่ต้องเสียเวลาในการฝึกฝนบุคลากรเพิ่มเติมอีกได้เช่นกัน ทำให้กิจกรรมรูปแบบนี้จะได้รับการสนับสนุนจากทางสปอนเซอร์และเป็นประโยชน์ร่วมกันในระยะยาวได้อย่างแท้จริง

ในส่วนของมุมมองผู้ปกครองที่มีต่ออีสปอร์ต ทางภาควิชาได้มีการวางแผนการสอนรูปแบบนี้ไว้ เพื่อให้นักศึกษาสามารถนำไปพูดคุย สร้างความเข้าใจกับทางผู้ปกครองได้ว่า “อีสปอร์ต” มีลักษณะการทำงานแบบกว้างขวาง เพราะจะมีงานรูปแบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและต้องประสานงานกันอยู่หลายอย่าง เช่น Caster, Project Manager, Switcher และอื่น ๆ อีกมากมายที่สามารถสร้างรายได้และประสบการณ์ได้จริง โดยไม่ได้มีความจำเป็นว่าจะต้องเป็นคน “เล่นแต่เกม” หรือเป็น “นักกีฬา” อย่างเดียวเท่านั้น

ทั้งหมดนี้ ทางภาควิชาไม่ได้มีการ “บังคับ” ให้นักศึกษาต้องจัดกิจกรรมรูปแบบนี้ขึ้นมา พวกเขาจะมีการพูดคุยสอบถามกับกลุ่มนักศึกษาในภาควิชากันก่อนว่ามีความสนใจในการจัดอีเวนต์อีสปอร์ตขึ้นจริงหรือไม่ โดยนักศึกษาส่วนใหญ่ต่างให้การตอบรับว่า “ควรมี”

ในขณะเดียวกัน ทางคณาจารย์ก็จะมีการสอนและแนะนำให้นักศึกษาหาประสบการณ์จากการทำงานจริงด้วยตัวเองให้มากที่สุด แล้วไม่ต้องยืดติดกับสิ่งใดมากเกินไป ขอให้ทำทุกอย่างถูกต้องตามหลักการ มีแบบแผนชัดเจน เพื่อให้ตัวเองสามารถนำประสบการณ์นี้ไปต่อยอด ใช้งานในอนาคตได้นั่นเอง

สุดท้ายนี้ ทางภาควิชาอินเทอร์แอคทีฟและเกม มีความคาดหวังว่าพวกเขาจะสามารถผลิตนักศึกษาที่มีคุณภาพเผื่อผลักดันทั้งระบบการทำงานในสายอีสปอร์ตหรือวิดีโอเกมแบบมืออาชีพ รวมถึงส่งเสริมให้กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเกมในประเทศไทยเติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน นี่จึงเป็นอีกที่มาและความสำคัญของงาน Sripatum Esports Festival 2024 ในครั้งนี้

ขอขอบคุณข้อมูลและความอนุเคราะห์จาก: Sripatum E-sport Club, Interactive and Game Design SPU และ มหาวิทยาลัยศรีปทุม