เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 30 มี.ค. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน Art Toy Korat ครั้งที่ 3 เพื่อรับฟังไอเดีย แนวคิด จากเหล่าศิลปินท้องถิ่น และศิลปินที่มีชื่อเสียง ของจังหวัดนครราชสีมา และร่วมเสนอโครงการที่อยากให้รัฐบาลผลักดัน โดยมี นายประเสริฐ จันทรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย เข้าร่วม อาทิ นายพชร จันทรรวงทอง, นายอาทิตย์ หวังศุภกิจโกศล, นายนิกร โสมกลาง, นายรชตะ ด่านกุล, น.ส.ปิยะนุช ยินดีสุข และนายพรเทพ ศิริโรจนกุล และผู้บริหารเซ็นทรัลโคราช
พร้อมกันนี้ ยังได้ชมผลงานจากบูธต่างๆ ของศิลปินที่นำมาจัดแสดง ซึ่ง น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญให้ร่วมเปิดงาน Art Toy โคราช ซึ่งโคราชมีของขึ้นชื่อมากมาย ทั้งผัดหมี่โคราช ผลิตภัณฑ์นมจากวัว ย่าโม แมววิเชียรมาศ เขาใหญ่ เรียกได้ว่า โคราชคือประตูสู่ภาคอีสาน ใครจะไปอีสานต้องมาที่โคราชก่อน
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โคราช ได้รับการพูดถึงอีกครั้ง หลังจากมีโปรดักใหม่ ‘กางเกงแมวโคราช’ ที่ส่งแรงกระเพื่อมต่อหอการค้าทุกจังหวัด รวมถึงเอกชนหลายที่ ที่ต่างทำกางเกงสัญลักษณ์ประจำจังหวัดของตนเอง นอกจากนี้ ทีมโคราชยังต่อยอดกางเกงแมวไปอยู่ในเกม และขยายตลาดออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง และล่าสุดยังมี ‘เจ้าเมื่อย’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลงาน art toy korat ที่สื่อถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่น และยังมีศิลปินอีกมากมาย ร่วมกันแตกความคิด ไปสู่ art toy อีกหลายตัว เช่น ‘ย่าโม’ ที่เป็นงานศิลปะ ซึ่งสะท้อนความเป็น ‘โคราช’ และแสดงถึงวีรสตรีที่กล้าหาญของชาวโคราช
“ต้องขอชื่มชม และยินดีกับดีไซเนอร์ทุกท่าน ที่ร่วมกันผลักดันผลงานออกมาในวันนี้ ทุกคนเก่ง อดทน มุ่งมั่น และตั้งใจกันมากๆ Art Toy กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมากในทุกวันนี้ จะเห็นได้ว่ามูลค่าของงาน Art Toy หลายชิ้นที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยคนไทย ทำราคาพุ่งขึ้นสูงขึ้นอย่างคาดไม่ถึง เพราะเป็นที่ต้องการของนักสะสมทั่วโลก” น.ส.แพทองธาร กล่าว
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ มีการสร้างเครือข่ายของคนทำงานศิลปะรุ่นใหม่ เชื่อมกับศิลปินที่ทำงานท้องถิ่น หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะช่วยสร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการศิลปะ งานสร้างสรรค์ และงานศิลปะท้องถิ่นของจังหวัดนครราชสีมา เป็นต้นแบบให้กับการพัฒนางานด้านซอฟต์พาวเวอร์ในด้านอื่นๆ ต่อไป
จากนั้น น.ส.แพทองธาร และคณะ ได้พบปะผู้ประกอบการ YEC โคราช ซึ่งเป็นกลุ่มของนักธุรกิจ-ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในจังหวัดนครราชสีมา เพื่อรับฟังการเสนอไอเดีย แลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งผู้ประกอบการได้คิดไอเดียต่างๆ และช่างผลิตภัณฑ์จนเป็นรูปธรรม จับต้องได้ สามารถสร้างมูลค่าและรายได้ ด้วยการดึงเอกลักษณ์ท้องถิ่น มาต่อยอดและพัฒนาอัตลักษณ์ เพื่อสร้างกาารับรู้ซอฟต์พาวเวอร์ของจังหวัดนครราชสีมา อาทิ Art and creative Korat งานศิลป์ Creative lab ที่เอาศิลปะกับ Ai technology ซึ่งมาประยุกต์กัน เป็นต้น