เมื่อวันที่ 30 มี.ค.นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( กพฐ.) เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนแผนการยกระดับผลการประเมินจากโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ครั้งที่ 2/2567 โดยมี ผอ.สพป. และ ผอ.สพม. ทั่วประเทศ และศึกษานิเทศก์ ทั้ง 245 เขต เข้าร่วมประชุม ผ่านระบบ Zoom Meeting
.
โอกาสนี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวให้ที่ประชุมรับทราบแนวทาง ความมุ่งมั่นตั้งใจของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ซึ่งห่วงใยคุณภาพการศึกษาของเด็กไทย และให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมรรถนะความฉลาดรู้ของผู้เรียน ที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญในอนาคต ของนักเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแนวทางการขับเคลื่อนแผนการยกระดับผลการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่จะสามารถเป็นการยกระดับประเมินจากโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ได้ โดยมีแนวทางการประชุมเตรียมความพร้อมร่วมกันกับ ผอ.สพท. ทุกเขต ทั้ง 245 เขต อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจของแผนการดำเนินการทั้งระยะสั้น และระยะยาว แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ขับเคลื่อนการดำเนินการและกำกับติดตามผลการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด
.
โดยในที่ประชุมได้มีการนำเสนอข้อมูลผลการขับเคลื่อนการสร้างความคุ้นชินของผู้เรียนด้วย PISA Style Online Testing ของแต่ละเขตพื้นที่ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าในการดำเนินการสร้างเครื่องมือในการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน ตั้งแต่ 15 เมษายน 2567 แบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่ แบบฝึกการพัฒนาความฉลาดรู้ 3 ด้าน ประกอบด้วย แบบฝึกการอ่าน 40 ชุด จาก สบว. ข้อสอบการอ่าน 85 ข้อ จาก สทศ. แบบฝึกคณิตศาสตร์ 24 ชุด จาก สบว. ข้อสอบคณิตศาสตร์ 80 ข้อ จาก สทศ. แบบฝึกวิทยาศาสตร์ 24 ชุด จาก สบว. ข้อสอบวิทยาศาสตร์ 60 ข้อ จาก สทศ. และยังมีตัวอย่างแบบทดสอบ รูปแบบ PAPER-BASED รูปแบบ COMPUTER-BASED ONLINE (PISA Style Online Testing) และรูปแบบ COMPUTER OFFLINE ในส่วนของแบบฝึก หรือแม้แต่ข้อสอบ จะมีการวิเคราะห์ความสอดคล้อง กับหลักสูตรสถานศึกษาแกนกลางฯ โดยการวิเคราะห์ความสอดคล้องตัวชี้วัดของแบบฝึกการพัฒนาความฉลาดรู้ 3 ด้าน สำหรับการบริหารจัดการใช้หลักสูตร 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ในการใช้จัดร่วมในรายวิชาพื้นฐาน (ตามตัวชี้วัด) ใช้จัดร่วมในรายวิชาเพิ่มเติม จัดร่วมในกิจกรรมการพัฒนาผู้เรียน และใช้จัดเป็นรายวิชาเพิ่มเติมใหม่ตามบริบทของโรงเรียน พร้อมทั้งมีการนำเสนอตัวอย่างการวัดตามแนวทางการประเมิน PISA เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ประเด็นที่เด็กจะต้องอ่านและเกิดความเข้าใจ และสามารถวิเคราะห์ สร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง
.
“การขับเคลื่อนการยกระดับสมรรถนะความฉลาดรู้ของผู้เรียนจากผลการประเมิน PISA นี้ เป็นสิ่งที่ รมว.ศธ. รมช.ศธ. และเลขาธิการ กพฐ. ให้ความสำคัญและมีความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นอย่างมาก เพราะผลการประเมินดังกล่าวสะท้อนถึงความฉลาดรู้ 3 ด้านที่ผู้เรียนจำเป็นต้องมี หากผลการประเมินดีขึ้น ย่อมหมายความว่าคุณภาพผู้เรียนของเราพัฒนาขึ้นด้วย จึงขอฝากทุกเขตพื้นที่ ดำเนินการขับเคลื่อนและติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านแนวทางปฏิบัติที่ดีในการขับเคลื่อนการพัฒนาสมรรถนะความฉลาดรู้ของผู้เรียน ผลการวิเคราะห์สภาพปัจจุบันและกลยุทธ์ที่สำคัญในการขับเคลื่อน และการติดตามการนำนักเรียนกลุ่มเป้าหมายในเขตพื้นที่ เข้าระบบ PISA Style Online Testing ให้ครบ 100% เพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อนการยกระดับผลการประเมิน PISA เห็นผลเป็นรูปธรรมในที่สุด” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว