วันที่ 1 เม.ย. ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ราชประสงค์ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และ เดลินิวส์ออนไลน์ จัดงานสัมมนา Sustainable Daily Talk Action for Change : ทำเดี๋ยวนี้! เพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยนายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวในหัวข้อ TCP Action for Change : เครื่องดื่มเพื่อความยั่งยืน ว่า จากรายงานของ เวิลด์  อีโคโนมิก ฟอรั่ม เรื่องความยั่งยืน มีทั้งความเสี่ยงเดิมและใหม่ โดยเรื่องความเสี่ยงเดิม คือ อากาศเปลี่ยนแปลง ภูมิรัฐศาสตร์ สงครามในภูมิภาคต่างๆ ส่วนความเสี่ยงใหม่  เป็นเรื่องเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ  เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ และโทษมหันต์ ความเสี่ยง คือ สร้างข้อมูลเท็จ หรือปลอม ไม่ตรงความจริง และเป็นเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานสูง

ซึ่งในธุรกิจเครื่องดื่ม เป็นเรื่องของน้ำ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก คาดการณ์ว่าอุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้น 1-2 องศา จะเกิดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องสภาพแวดล้อมขึ้น ธุรกิจของเราใช้น้ำเป็นหลัก ทำให้ต่อไปมีความเสี่ยงที่ทรัพยากรน้ำมีปริมาณและคุณภาพลดลง ซึ่งไทยอาจเจอวิกฤติได้

เนื่องจากเอไอ จะนำมาใช้กับธุรกิจ ซึ่งเอไอ เป็นระบบที่ใช้น้ำมหาศาล เพื่อใช้ลดความร้อนดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งหลายๆ ประเทศมีการประกาศตั้งดาต้าเซ็นเตอร์  จะต้องใช้น้ำอย่างมหาศาล เช่น การใช้แชตจีพีที จะต้องใช้น้ำถึง 500 ซีซี สำหรับการตั้ง 5 คำถาม อยู่ที่ว่าดาต้าเซ็นเตอร์ตั้งอยู่ที่ไหน ซึ่งหากมีการลงทุนเอไอมากขึ้นเรื่อยๆ จะเอาน้ำจากไหนมาใช้ป้อน

นายสราวุฒิ กล่าวต่อว่า ในประเทศไทย จากอุณหภูมิที่สูงขึ้น มีการวิจัยว่า จะทำให้จีดีพีติดลบ 0.7% และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง 9.7 พันล้านชั่วโมง และยังมีผลต่อสุขภาพและโรคระบาดต่างๆ ด้วย

สำหรับในธุรกิจของ TCP ทำธุรกิจเครื่องดื่มเป็นหลักมา 68 ปี การทำธุรกิจต้องควบคู่กับตอบแทนสังคมด้วย โดยในอดีตได้มีโครงการ อีสานเขียว ทำร่วมกับภาครัฐ เพื่อให้อีสานมีความสมบูรณ์ คนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม ต่อมาเมื่อปี 61 ได้หันมาเน้นเรื่อง Sustainable  นำแนวคิด คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อได้

โดยในเรื่องแพ็กเกจจิ้ง มีการเปลี่ยนแปลงให้ทุกอย่างเพื่อดีกับโลกมากขึ้น เช่น ขวดแก้ว ลดน้ำหนักลง  12%  ปรับฉลากสั้นลง 4% ช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์ ด้านการขนส่งด้วย นอกจากนี้ ได้ยกเลิกการใช้ขวด PETทั้งหมด และใช้ rPET ที่รีไซเคิลมาเป็นส่วนผสมในการผลิต  ส่วนกระป๋องมีส่วนผสมของอะลูมิเนียมจากการรีไซเคิล 70%

“การที่ยังไม่สามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ทั้งหมด เนื่องจากแพ็กเกจจิ้งแต่ละอย่างก็มีจุดอ่อน และต้องดูพฤติกรรมผู้บริโภคด้วย หากเป็นกระป๋องอะลูมิเนียม จุดอ่อน คือเปิดแล้วต้องกินให้หมด และผู้บริโภคอยากเห็นสีของน้ำข้างใน แม้ขวดแก้วรีไซเคิลได้ 100 % แต่น้ำหนักมาก ก็ทำให้เกิดคาร์บอนฯ  แนวคิดของ TCP คือการออกแบบผลิตภัณฑ์ไม่ใช้สีในบรรจุภัณฑ์ และออกสินค้าใหม่  ฟาร์มซ่า ออกแบบร่วมกับเกษตรกร ใช้น้ำมะปิ๊ดแท้  เป็นแนวทางเครื่องดื่มในด้าน Sustainable และช่วยเกษตรกร นอกจากนี้ยังออกเครื่องดื่มน้ำตาล  0%”

นายสราวุฒิ กล่าวต่อว่า เรื่องของโรงงาน ได้ใช้โซลาร์เข้ามาช่วย ส่วนหน้าร้อนที่อากาศร้อน มีการติดตั้งระบบระบายอากาศ ดึงอุณหภูมิความเย็นทำให้ภายในโรงงานอุณหภูมิต่ำกว่าภายนอก 5%  ช่วยเทรนพนักงานให้รู้จัดการแยกขยะ รวมถึงร่วมกับองค์กรต่างประเทศและสตาร์ทอัพในการดึงแพ็กเกจจิ้งกลับมารีไซเคิลให้ได้มากที่สุด แม้จะไม่ได้ทั้ง 100%   

ทั้งนี้ เรื่องน้ำ เกิดวิกฤติอยู่แล้ว ปีนี้ได้เห็นแม่น้ำลำคลองมีน้ำน้อย ไม่แน่ใจว่า น้ำจะมีกิน หรือใช้พอหรือไม่ แต่บริษัทมีแนวคิดคืนน้ำให้มากกว่าใช้มาตั้งแต่ปี 2530  โดยโรงงานที่ปราจีนบุรี มีการเก็บกักน้ำฝนไว้ใช้ผลิตได้มากกว่า 10 เดือน นอกจากนี้ยังร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในการทำโครงการต่างๆ ช่วยลดผลกระทบให้กับชุมชน คืนน้ำได้ 17 ล้านลบ.ม. และ สร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 90 ล้านบาท

“เราพยายามเต็มที่ ทำเพราะอยากทำ เพราะเห็นปัญหา ไม่ใช่ทำเพื่อตอบโจทย์ในเรื่องของกฎหมาย ซึ่งเรื่องยั่งยืน เป็นเรื่องท้าทาย  หากคนไม่คิดว่าเป็นหน้าที่ตนเอง แต่เป็นหน้าที่รัฐบาล และกระทรวงต่างๆ หากคิดแบบนี้จะไม่รอด ทุกคนต้องร่วมมือกันทำ และทำทั้งโลก เพื่อให้โลกอยู่รอด ให้คิดว่าลูกหลานเราจะอยู่ในโลกแบบไหน เราต้องทำกันในวันนี้ เราต้องแข่งกับเวลา ปัญหารุนแรงขึ้นทุกวัน แต่สุดท้าย เชื่อว่า คนไทยและสังคมไทย มีแนวคิดเรื่องนี้มากขึ้น แต่ต้องเปลี่ยนเแนวคิดมาปฏิบัติให้ได้ ถ้าหากทุกคนร่วมมือกัน จะผ่านวิกฤตินี้ไปได้อย่างแน่นอน”  นายสราวุฒิ กล่าว