เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล หนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ จัดสัมมนา ‘Sustainable Daily Talk 2024’ หัวข้อ Action for Change : ทำเดี๋ยวนี้! เพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยมีภาคนโยบาย และองค์กรธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้านความยั่งยืน มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ทำแล้วเกิดขึ้นจริง
ทั้งนี้ ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วย รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้แทน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ Action for Change : โจทย์ใหญ่เปลี่ยนไทยอย่างไร ให้ยั่งยืน? ตอนหนึ่ง ว่า อย่างที่ทุกท่านทราบปัญหาเรื่องความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่สำคัญ จากประสบการณ์การลงพื้นที่บริเวณทะเลอันดามันของตน ในพื้นที่ จ.ตรัง พังงา กระบี่ เพื่อไปดูว่าฝีมือมนุษย์ในการสร้างเขื่อน หรือภาวะโลกร้อนทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น หรือที่เรียกว่าทะเลเดือด ทะเลรวน หรือเกิดจากโรคระบาดที่ทำให้หญ้าทะเลหมดไปไม่มีอาหารให้พะยูน การที่บอกว่าอ่าวไทยมีพะยูน 200 กว่าตัว มีจริงหรือไม่ ปรากฏว่าในการลงพื้นที่ พร้อมด้วย สส.พรรคก้าวไกล และพรรคร่วมรัฐบาล ไม่เจอพะยูนเลย
ผู้ช่วย รมว.ทรัพยากรฯ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จากการนั่งเรือลาดตระเวนร่วมกับนักวิชาการ รวมทั้งผู้ว่าฯ จ.ตรัง ซึ่งปัญหาเรื่องโลกร้อนไม่ได้เป็นภารกิจของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน ทั้งจังหวัด กระทรวงมหาดไทย ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันสังเกตการณ์ว่าทำไมหญ้าทะเลที่เคยมีแถวนั้นกลายเป็นหาดทรายไปหมด พอลงไปดูปรากฏว่าไม่มีที่ให้หญ้าทะเลขึ้นเลย เมื่อถามนักวิชาการ ปรากฏว่าปัญหามันเกิดจากการที่เริ่มทำเขื่อนและตะกอนพัดอยู่ในทะเล โดยไม่ได้หายไปไหน และพัดมาทับหญ้าไปทั้งหมด หญ้าจึงขึ้นไม่ได้ ซึ่งกรณีที่เป็นที่รู้จักคือน้องมาเรียม พะยูนที่เรานำมาอนุบาล แต่ไม่รอดชีวิต เพราะเขาต้องรอดในระบบนิเวศเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในฝั่งอ่าวไทยหญ้าทะเลก็ตายไปถึง จ.ตราด ตายข้ามฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามัน จึงวิเคราะห์ว่าไม่น่าจะเป็นเพราะเขื่อนเพียงอย่างเดียว หากสร้างเขื่อนกั้นก็ต้องเกิดเฉพาะฝั่งอันดามัน แต่เกิดขึ้นทั้งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย ทั้งนี้ล่าสุดจากการประเมินว่ามีพะยูน 200 กว่าตัว บางทีอาจจะไม่ใช่ ล่าสุดจากการใช้โดรนบินลาดตระเวนทุกจังหวัดผลออกมาเราเจอพะยูนประมาณ 70-80 ตัวเท่านั้น ดังนั้นค่อนข้างน่าเป็นห่วงว่าสิ่งที่เราคิดและเราเชื่อมั่นว่าเมื่อ 2-3 ปียังเห็นอยู่เลย จ.ตรัง ที่มีสัญลักษณ์เป็นพะยูน ตอนนี้อาจจะไม่ใช่แล้ว อาจจะไม่เหลืออีกต่อไป ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ซึ่งเรื่องนี้ต้องมาทำการสำรวจใหม่ทั้งหมด นอกจากนั้นในเรื่องปัญหาช้างป่า ก็เกิดจากการเปลี่ยนแปลง อาหารในป่าไม่พอกินก็ออกมาหากินนอกป่า ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกของราษฎร
ร.อ.รชฏ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นประสบการณ์ในการที่ตนลงพื้นที่ภาคเหนือ ในเรื่องไฟป่าเราก็ไล่ไปตั้งแต่ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ขึ้นไปถึงภาคเหนือตั้งแต่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย ทำให้เกิดภาวะฝุ่นควันอย่างหนัก รวมทั้งการเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน และวิธีแก้ฝุ่นทำอย่างอื่นไม่ได้นอกจากต้องใช้ฝนหลวงอย่างเดียว ฝนหลวงก็ต้องใช้ความชื้น ถ้าความชื้นไม่ถึง 50% ก็ทำฝนหลวงไม่ได้ ปัญหามันทับถมเป็นปัญหาซ้อนปัญหา พอฝุ่นเกิดขึ้นมาก จ.เชียงใหม่ ที่เป็นแอ่งกระทะ ฝุ่นก็กักอยู่อย่างนั้น ในส่วนของ กทม.ก็เป็นตึก และทำฝนหลวงไม่ได้ เพราะติดแนวร่อนของสายการบินต่างๆ เราสงสัยว่าทำไมฝุ่นอยู่ใน กทม. ตลอดก็เพราะเครื่องบินในการทำฝนหลวงเข้าไม่ได้ จึงต้องทำที่กาญจนบุรี หรือฉะเชิงเทราเพื่อให้ลมพัดเข้ามาที่ กทม. ซึ่งฝุ่นเกิดทั้งจากไฟป่า การเผาไหม้ทางการเกษตร หรือเกิดจากประเทศเพื่อนบ้าน หลายสิ่งหลายอย่างมารวมกัน สิ่งที่ตนพูดมาทั้งหมดเพื่อให้เห็นว่าบางครั้งการจะเปลี่ยนแปลงได้ต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ คือตัวเองก่อน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน แล้วค่อยมาเป็นสังคมภาพรวมและระดับโลก
ร.อ.รชฏ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรฯ ได้มีโอกาสไปร่วมประชุม Cop 28 เราได้เสนอแผนปฏิบัติการไปแล้วว่า ขณะนี้เรามีการตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เราจะเข้าสู่การเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และคาร์บอนเป็นศูนย์ ในปี 2065 ทั้งนี้สายการบินต่างๆ เริ่มมีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์แล้ว หลายท่านก็ถามว่า กระทรวงทรัพยากรฯ ทำอะไรบ้าง ในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเรามีการขับเคลื่อนเรื่อง พ.ร.บ.อากาศสะอาด พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต โดยจะเริ่มมีการบังคับใช้กฎหมายต่อไป คาดว่าภายในปีนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการผลักดันกฎหมายต่างๆ และมีการจำแนกในเรื่องการเสียภาษีที่ทำให้เกิดมลพิษหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยแม่งานหลักคือกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก องค์การมหาชน (อบก.) กระทรวงไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามผลักดันการดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ เพราะเป็นนโยบายของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รมว.ทรัพยากรฯ ขณะที่กรมต่างๆ ก็ดำเนินการตามกรอบอำนาจและหน้าที่ของกรม พร้อมประสานความร่วมมือกับเอกชน หรือหน่วยงานภายนอก
“ในเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สภาวะแวดล้อม การเกิดภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน ก็เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกือบทั้งหมด ส่งผลทั้งต่อระดับภูมิภาค ประเทศ และระดับโลก ดังนั้นผมเชื่อว่าเป็นโอกาสดีที่ทางเดลินิวส์ทำให้คนเกิดการตื่นรู้ หรือเป็นการที่ทำให้ทุกคนร่วมกันผลักดันและมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยต้องเริ่มจากตัวเองก่อน ซึ่งเชื่อว่าหากมีการร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ โดยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการอยู่อย่างยั่งยืนระหว่างคนและสิ่งแวดล้อม จะส่งผลต่อการทำให้มีพื้นที่ มีโลกที่ดีและน่าอยู่ส่งต่อให้ลูกหลานในอนาคตต่อไปอย่างแน่นอน” ผู้ช่วย รมว.ทรัพยากรฯ กล่าว.