บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผนึกกำลังร่วมกับ บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด หรือ BMN และ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ต่อยอดความสำเร็จจากการพัฒนาพื้นที่ MRT พหลโยธิน ให้กลายเป็น Metro Art อาร์ตสเปซใจกลางเมือง ด้วยการเปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมทักษะ ส่งเสริมการต่อยอดทางความคิดและวิชาชีพให้กับชุมชน เยาวชน ตลอดจนประชาชนที่อาศัยในเขตคลองเตยอย่างยั่งยืน โดยเชิญชวนนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมการประกวดภายใต้โครงการ ‘การออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์ Too Fast Too Sleep แห่งใหม่ที่สถานีรถไฟฟ้า MRT คลองเตย’

 “BEM BMN และ ช.การช่าง เรามุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคมเป็นทุนเดิม เราสนับสนุนชุมชน นักเรียน นักศึกษาที่อาศัยอยู่รายล้อมทางด่วน หรือแม้กระทั่ง MRT ซึ่งจริง ๆ แล้ว โครงการนี้ก็นับว่าอยู่ในวิศัยทัศน์เราของอยู่แล้ว จึงอยากสร้างพื้นที่ในการเติมความรู้ให้กับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กด้อยโอกาส” นายวิทสุวัฒน์ อำคาเพท กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด กล่าว

“วิทสุวัฒน์” ในฐานะผู้ให้บริการสื่อโฆษณา พื้นที่จัดกิจกรรมในระบบรถไฟฟ้า MRT และทางด่วน ระบุว่า ภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการ ได้มีการส่งมอบบริการที่มีประสิทธิภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิต มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม เพื่อร่วมกันสร้างคุณค่าระหว่างบริษัท ชุมชน และสังคม ให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยหนึ่งในกลยุทธ์การส่งเสริมความสุขทั้ง 3 ด้าน คือ ความสุขของชุมชนและสังคม หรือ Happy Living Society ประกอบไปด้วย Happy Journey, Happy Living Society และ Happy Planet ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความสามารถของเยาวชนและการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนในพื้นที่ โดยเล็งเห็นว่า MRT สถานีคลองเตย ตั้งอยู่ในย่านที่เหมาะสมแก่การพัฒนาเป็นแหล่งการเรียนรู้สำหรับชุมชน ทั้งยังมีโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Too Fast To Sleep พันธมิตรที่จะสามารถปลุกปั้นพื้นที่ให้กลายเป็น ‘คอมมูนิตี้ด้านปัญญา’ หรือเรียกอีกอย่างว่า ‘แหล่งมั่วสุมทางปัญญา’ แห่งใหม่ ได้อย่างน่าสนใจ จึงเกิดเป็นโครงการดังกล่าว ที่เปิดกว้างให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้ใช้เป็นพื้นที่ในการอ่านหนังสือ ประชุม ไปจนถึงการทำงานกลุ่ม ซึ่งตอบโจทย์วิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ที่ต้องการพื้นที่เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาตลอด 24 ชั่วโมง สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการริเริ่มการพัฒนาทักษะอาชีพและศักยภาพของผู้คนในชุมชนคลองเตย นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชน ที่สนใจ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

“BMN และ BEM จะไม่หยุดพัฒนาเพียงเท่านี้ เรายังมองหาพื้นที่ที่น่าสนใจในระบบรถไฟฟ้า MRT ในการปรับโฉมใหม่อยู่เสมอ เพื่อเป็นประโยชน์สูงสุดกับผู้ใช้บริการ MRT” วิทสุวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย