หลายคนมักตั้งคำถาม สิ่งที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกมาเดินหน้าโครงการ “ไม่เทรวม” แต่ก็มีการตั้งคำถามว่า ไม่เทรวมแล้ว สุดท้ายปลายทาง ก็ต้อง “รวมกัน” อยู่ดี แล้วจะให้ประชาชนไม่เทรวมกันทำไม??? เรื่องนี้ “พรพรหม ณ.ส.วิกิตเศรษฐ์’ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนคนแรกของกทม.  ได้ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ – Pornphrom Vikitsreth อธิบายถึงขั้นตอน แยกขยะแล้ว ไปไหนต่อ? แบ่งเป็น 2 Version เริ่มจาก 

“ขยะแห้ง” การสื่อสารเรื่องแยกขยะของกทม. มีหลักๆอยู่ แยกขยะเป็นเรื่องง่าย ขอแยกแค่ 2 ประเภท: เปียก กับ แห้ง และถ้าแยกขยะแล้วต้องไม่เทรวม ขยะทุกชิ้นมีทางไป หนีบ่อฝังกลบ สิ่งที่กทม.ช่วยสนับสนุนคือการสร้าง ecosystem ที่สะดวกสำหรับการแยกขยะ ทลายความเชื่อว่า “ถ้าแยกแล้วก็เทรวมอยู่ดี” ผมเลยอยากให้ข้อมูลว่าขยะที่แยกแล้วไปไหนได้บ้าง สำหรับ “ขยะแห้ง” ที่ไม่ปนเปื้อนนั้นมีทางไปมากมาย และมีภาคีของกทม. ที่มาช่วยยกระดับความสะดวกสบาย “ขยะแห้ง” สามารถแบ่งออกเป็น 2 หมวด นั่นคือ 1. รีไซเคิล (ขวดพลาสติก แก้ว กระดาษ กระป๋องอลูมิเนียม)

2. กำพร้า (ถุงแกง ถุงขนมโดยเฉพาะแบบ multilayer หลอด อื่นๆ) ทั้งคู่มีภาคีพร้อมรับ โดยมีหลายโมเดลที่พวกเราสามารถมีส่วนร่วมได้ เช่น

1. ภาคีมารับซื้อถึงบ้าน 

WASTE BUY Delivery รถสะดวกซื้อ มีบริการรับซื้อทุกพื้นที่ในกทม. มีปริมาณขั้นต่ำ 100 กิโลกรัมต่อ 1 แหล่งกำเนิด โดยสามารถโทรแจ้งล่วงหน้าได้อย่างน้อย 1 วัน ซึ่งขยะที่รับนั้นรวมหลายประเภทได้ และยังรับ RDF ได้ด้วย

Recycoex สามารถเรียกไปรับขยะผ่าน application ได้โดยจะต้องมีปริมาณเต็มรถกระบะ 1 คัน (100-300 กก.) และสามารถไปเก็บเดือนละครั้ง พร้อมกับยังสามารถซื้อถุงนมโรงเรียนได้เช่นกัน

Wake Up Waste มีบริการรับซื้อขยะในพื้นที่กรุงเทพฯโดยเริ่มจากการนัดหมายไปสำรวจพื้นที่และนัดหมายเวลาจัดเก็บ ซึ่งเงื่อนไขต้องมีน้ำหนักอย่างน้อย 250 กิโลกรัม

รีไซเคิลเดย์ Recycle Day Thailand พร้อมเข้าไปรับซื้อผ่านการจองใน application ซึ่งสมาชิกจะได้รับคะแนนและสามารถนำคะแนนไปแลกของรางวัลต่างๆได้ ล่าสุดทางบริษัทได้มีการเปิดตัวโครงการรับซื้อเศษอาหารด้วยซึ่งประชาชนสามารถเช่าถังใส่เศษอาหาร . นอกเหนือจากนั้นแน่นอนว่ายังมีพี่ซาเล้งที่อยู่ตามพื้นที่อยู่แล้ว

2. รับซื้อ/รับบริจาคตามจุด

Trash Lucky เป็นภาคีที่เปิดรับให้ผู้แยกขยะส่งของมาที่จุดรับได้โดยมีการคิดค่าบริการขั้นต่ำขึ้นกับขนาดของพัสดุแต่ถ้าซื้อกล่องของ trash lucky จะฟรีค่ารับส่งขยะ ซึ่งมาส่งแล้วก็รับแต้มสะสม . สำหรับขยะกำพร้าที่ไม่ค่อยมีคนรับซื้อ เช่น HDPE (ขวดนม ขวดแชมพู แก้วโยเกิร์ต) LDPE (หลอดโฟมล้างหน้า) PP (กล่องอาหารที่ใส่ไมโครเวฟได้) PS (ช้อนส้อมพลาสติก) สามารถส่งต่อให้ YOLO – Zero Waste Your Life หรือไปส่งที่จุดนัดพบของ N15 Technology ได้

3. รับบริจาคจากตามจุด drop off

ปัจจุบันกรุงเทพฯร่วมกับภาคี “มือวิเศษ กรุงเทพฯ” ได้ตั้งจุดรับวัสดุรีไซเคิลในทุกสำนักงานเขตและศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 แห่ง รับภาชนะเช่น ขวด PET พลาสติกยืด HDPE รวมถึงขยะกำพร้า จะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นรีไซเคิลหรือไม่ ขยะที่แยกแล้วมีทางไปหมด ซึ่งเราเชื่อว่าการมี ecosystem ส่งเสริมทางไปของขยะแห้งที่ชัดเจน และมีการสื่อสารที่ชัด จะเป็นแรงจูงใจสำคัญให้ประชาชนมองว่าเรื่องแยกขยะเป็นเรื่องง่าย สะดวก และเป็นประโยชน์

ส่วน “ขยะเปียก”  หรือขยะอินทรีย์/เศษอาหาร ถ้าเทียบกับ “ขยะแห้ง” แล้วจริงๆ “เปียก” นั้นมีความท้าทายมากกว่าเยอะ เนื่องจากมีความเหม็น ชื้น น้ำหนักมากกว่า และไม่ได้มีตลาดรับซื้อเหมือนกับพวกรีไซเคิล . แต่เนื่องจาก “ขยะเปียก” มีสัดส่วนเกือบ 50% ของขยะทั้งหมดในกทม. และเป็นอุปสรรคต่อระบบรีไซเคิลที่สมบูรณ์ ทำให้เราต้องเน้นประเด็นนี้เป็นอย่างมาก . ถามว่าแยกขยะแล้ว “ขยะเปียก” ไปไหนได้บ้าง?

1. เกษตรกรมารับถึงที่ ทราบหรือไม่ว่าเศษอาหารเป็นของที่ต้องการของเกษตรกรเลี้ยงสัตว์เลี้ยงปลามาก สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร แถมช่วยกำจัดขยะให้เราด้วย และเกษตรกรเหล่านี้พร้อมวิ่งเข้ามารับจากจังหวัดรอบข้างเลยด้วยซ้ำ . หน้าที่ของกทมคือ การเชื่อมแหล่งกำเนิดกับเกษตรกรเข้าหากัน ถ้ามีตลาด/ห้าง/โรงแรม ไหนพร้อมแยกแล้วเราช่วยติดต่อเกษตรกรมารับให้เลย ส่วนใหญ่เกษตรกรจะรับพวกข้าวหมูแต่ปัจจุบันเริ่มมีคนรับเศษผักผลไม้มากขึ้นเช่นกัน

2. สำนักงานเขตจัดเก็บตามร้าน/ครัวเรือน ด้วยรถเฉพาะ และนำมารวบรวมให้เกษตรกรมารับ] . ข้อจำกัดของการให้เกษตรกรมารับตรงคือแหล่งกำเนิดนั้นจะต้องมีปริมาณขยะเยอะ (ร้านเล็กๆที่มีขยะไม่มากก็ไม่คุ้มที่จะวิ่งไปรับ) . ซึ่งสำหรับร้านเล็กๆ/ห้องแถว/ครัวเรือน จะมีโมเดลที่สำนักงานเขตใช้รถเฉพาะวิ่งเก็บเศษอาหารอย่างเดียวในพื้นที่ และเอาทั้งหมดไปรวมไว้ที่จุดพักแห่งหนึ่ง และกำหนดเวลาให้เกษตรกรมารับทีเดียว ฝรั่งจะเรียกว่าโมเดล “Milk run” . กรณีนี้บ้านหรือร้านไหนสนใจแยกขยะก็สามารถติดต่อฝ่ายรักษาของแต่ละเขตได้เลยเพื่อเข้าร่วมโครงการ “#ไม่เทรวม”

3. สำนักเขตจัดเก็บด้วยรถเฉพาะ และนำไปส่งโรงหมักปุ๋ยที่อ่อนนุช/หนองแขม] . ถ้าแหล่งกำเนิดไหนมีผักหรือเปลือกผลไม้เยอะๆ (มากเกินกว่าที่เกษตรกรต้องการ) เช่นตลาดสด สามารถประสานให้สำนักงานเขตมารับไปส่งโรงหมักปุ๋ยของกทม.ได้ ซึ่งปุ๋ยเหล่านี้จะนำไปใช้กับต้นไม้สาธารณะหรือหน่วยงานรัฐต่างๆสามารถมาเบิกได้

4. เขตจัดเก็บด้วยรถเฉพาะ และนำไปส่งโรง BSF หนองแขม โมเดลเดียวกันกับที่ไปส่งโรงหมักปุ๋ยคือเขตเข้าไปรับตามแหล่งกำเนิด แต่ที่ต่างคือปลายทางจะไปที่โรง BSF (Black Soldier Fly) หรือโรงกำจัดที่ใช้หนอนแมลงทหารดำ ที่สามารถกินเศษอาหารได้อย่างดี และตัวหนอนเองก็สามารถขายเป็นอาหารสัตว์ได้ . ซึ่งอันนี้เป็นเทรนใหม่ที่หลายๆประเทศได้เริ่มดำเนินการ เรามีศูนย์ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. และจุฬา โดยมีทีม สวนต้องก้าว เป็นผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งปัจจุบันสามารถกำจัดได้วันละ 3 ตัน (เราวิ่งเก็บจากเขตฝั่งธนเป็นหลัก) และในอนาคต 10 ตันโดยใช้พื้นที่ไม่กี่ตารางเมตร นอกเหนือจากนั้นยังเป็นที่สำหรับดูงานได้ โดยเริ่มมีเอกชนหลายแห่งหรือสำนักงานเขตเช่นเขตวัฒนา มาดูงานและนำไปต่อยอดในพื้นที่ของตัวเองแล้ว

5. กำจัด ณ แหล่งกำเนิด อีกแนวทางสำคัญคือการกำจัดเศษอาหารที่แหล่งกำเนิดเลยเช่น การมีเครื่องหมักอัตโนมัติ ที่เข้าใจว่าปัจจุบันค่าลงทุนลดลงเรื่อยๆจากเมื่อก่อน ซึ่งเหมาะกับภาคเอกชนรายใหญ่ หรือการหมักแบบเทคนิคดั้งเดิม เช่น Green cone, ปุ๋ยคอก ต่างๆ ที่จะเหมาะกับภาคครัวเรือนหรือชุมชน หรือการทำแก๊สชีวภาพ แล้วสำหรับบ้านเรือนทั่วไปที่อยากแยกขยะจะต้องทำยังไง? 

วันนี้รถขยะกทม.ทุกคันมีถังแยกแล้ว ปัจจุบันรถเก็บขยะของกทม. ทุกคัน (รถอัดที่เราเห็นทุกๆวัน) มีถังขยะสำหรับเศษอาหารวางไว้บนคอกรถหลังคนขับแล้ว ทุกบ้านเรือนสามารถแยกขยะเป็น 2 ถุง เขียนอะไรง่ายๆที่บ่งบอกว่าถุงนั้นเป็นขยะเปียก (หรือใช้ถุงใสให้เห็นข้างใน) แล้วเจ้าหน้าที่จะแยกไปใส่ถังเฉพาะ ถ้าลองแล้วยังเห็นว่าเจ้าหน้าที่เทรวมอยู่ สามารถแจ้งไปที่เขตหรือแจ้งผ่าน traffy fondue ได้  อีกอันที่เห็นแล้วดีใจคือที่ทาง รีไซเคิลเดย์ Recycle Day Thailand เริ่มมีโมเดลรับเศษอาหารโดยมีการให้เช่าถังแยกเศษอาหาร ที่จริงแล้วยังมีวิธีการอื่นๆอีกมากมาย แต่ตัวอย่างเหล่านี้ก็สามารถบ่งบอกได้ว่าขยะนั้นถ้าแยกแล้วมีทางไปหมดแม้กระทั่ง “ขยะเปียก” ที่คนจะมักมองว่าเหม็นและไม่มีมูลค่าก็มีทางไปครับ