เมื่อวันที่ 2 เม.ย. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการติดตามข้อเท็จจริง กรณีมีผู้ร้องเรียนว่าโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น มีพฤติกรรมเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ จำนวน 1 แสนบาท เพื่อแลกกับการให้บุตรหลานเข้าเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ตามที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ นั้น

นายพัฒนะ กล่าวว่า สำหรับประเด็นดังกล่าว ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ได้รับทราบเรื่องแล้ว และไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้สั่งการ ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาขอนแก่น เร่งติดตามและตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงลึกในทันที โดยในเบื้องต้นได้รับรายงานว่าทาง สพม.ขอนแก่น ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว หากได้ข้อสรุปหรือมีความคืบหน้าอย่างไรจะรายงานต่อ สพฐ. ให้ทราบโดยทันที

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน ก.พ. 67 ที่ผ่านมา สพฐ. ได้ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจและมีหนังสือไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ให้ดำเนินการกำกับ ติดตาม และกำชับให้โรงเรียนในสังกัดต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 2567 ด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม เสมอภาค โปร่งใส และตรวจสอบได้ รวมทั้งข้อพึงระวัง กรณีการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ นอกเหนือจากที่ได้กำหนดไว้ โดยคณะกรรมการรับนักเรียนระดับโรงเรียน ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการรับ วิธีการคัดเลือกนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษอย่างชัดเจน มีขอบเขตในการพิจารณาที่สามารถตรวจสอบได้ ไม่เป็นการใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวาง และต้องประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการรับ วิธีการคัดเลือก และขอบเขตในการพิจารณาดังกล่าวก่อนการพิจารณา ให้ผู้ปกครอง นักเรียน และสาธารณชนทราบ โดยการประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้ประกาศเฉพาะเลขประจำตัว และให้จัดทำข้อมูลรายชื่อไว้เป็นความลับ หากมีการขอตรวจสอบข้อมูลโดยผู้เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

“สำหรับประเด็นของโรงเรียนดังกล่าว สพฐ. ได้เน้นย้ำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรอบคอบได้ข้อมูลครบถ้วน เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และได้กำชับให้คณะกรรมการเร่งสืบสวนข้อเท็จจริงและรายงานผลต่อ สพฐ. โดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักเรียนและผู้ปกครอง รวมถึงสาธารณชนที่เกิดความกังวลใจต่อเหตุดังกล่าว อีกทั้งเรื่องความโปร่งใส ไร้ทุจริต ตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นนโยบายที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการ กพฐ. ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม หากทางโรงเรียนกระทำการที่ไม่เหมาะสมเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของสาธารณชน ก็ยากที่จะพัฒนาการศึกษาให้เกิดคุณภาพกับผู้เรียนได้ ซึ่งก็ต้องมีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงให้กระจ่างเสียก่อน เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งนี้ หากพบเหตุที่ไม่เหมาะสมใดๆ เกี่ยวกับการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2567 ขอให้แจ้งเหตุมายัง สพฐ. เราพร้อมดำเนินทุกมาตรการเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ ยุติธรรม แก่ทุกคนต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว