เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ สำนักงานจเรตำรวจ ถนนรามอินทรา เขตบางเขน กทม. พล.ต.ท.สรศักดิ์ เย็นเปรม ประธานกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) พร้อมด้วยคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) อีก 4 ราย ประกอบด้วย 1.พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร อดีต ผบช.ปส. 2.พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตรอง ผบช.น. 3.นางสมศรี หาญอนันทสุข กรรมการที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ และ 4.นายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการสภาทนายความ ร่วมกันรับมอบเอกสารเส้นทางการเงินจากทนายตั้ม เพื่อให้ตรวจสอบบิ๊กตำรวจ

พล.ต.ท.สรศักดิ์ เปิดเผยว่า ชุดคณะกรรมการในวันนี้เป็นบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกจากผู้ตรวจการแผ่นดิน จากนี้เราจะไปดูว่าเอกสารภายในซองมีเรื่องอะไรบ้างและจะร่วมกันพิจารณา ถือว่าเป็นขั้นตอนการยื่นและรับเอกสารเพื่อไปสู่กระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ส่วนกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานนั้น จะต้องเข้าสู่กระบวนการธุรการก่อน จากนั้นจึงจะเข้าสู่ที่ประชุมในการใช้อำนาจไต่สวนว่าจะมีอำนาจอย่างไร ตามกฎหมายคณะกรรมการอาจจะดำเนินการไต่สวนเองหรือมอบหมายให้จเรตำรวจแสวงหาข้อมูลเบื้องต้น แต่ในกรณีนี้จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการว่า หากรับเรื่องเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วจะใช้อำนาจอย่างไรก็จะต้องไปดูรายละเอียดภายในเอกสารก่อน แล้วจึงจะมีการร่วมกันพิจารณา

ด้าน พล.ต.ท.เรวัช กล่าวว่า การที่ทนายตั้มมายื่นเรื่องร้องเรียนกับตำรวจเพื่อขอให้ลงโทษทางวินัย กับตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บพนันและการฟอกเงิน ยืนยันว่าเราจะให้ความเป็นธรรม ขอให้เชื่อว่าคณะกรรมการชุดนี้ได้รับการคัดเลือกเป็นอย่างดี ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้แต่งตั้งโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แต่ได้รับการคัดเลือกมา ดังนั้นการทำงานจะอยู่นอกเหนืออำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อีกทั้งยังไม่ได้ขึ้นตรงกับหน่วยงานใด หากพยานหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงใครต่อให้ยศเป็นระดับ “พล.ต.อ.” ก็จะดำเนินคดีด้านวินัย ใครผิดก็ต้องว่าไปตามผิด ใครถูกก็ต้องว่าไปตามถูก

และถึงแม้ว่าวันนี้ทนายตั้มจะไม่ได้นำเอกสารมาร้องเรียนกับคณะกรรมการ แต่หากคณะกรรมการทราบเรื่องด้วยตัวเอง ก็จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อเข้าสู่การพิจารณาทันที ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่กระทบความเชื่อมั่นต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติในวงกว้าง และกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ก็จะต้องมีการดำเนินการทันที พร้อมย้ำว่าไม่เคยหนักใจที่จะต้องทำงานนี้ ทุกอย่างว่ากันตามพยานหลักฐาน ไม่มีมวยล้มต้มคนดู ต่อให้เป็นระดับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หากพบหลักฐานความผิดก็จะดำเนินการให้หมด

ส่วนจะมีการเรียกทั้งสองบิ๊กตำรวจเข้ามาสอบถามหรือไม่นั้น พล.ต.ท.เรวัช ระบุว่า หากพยานหลักฐานเชื่อมโยงถึงใครก็จะต้องเรียกมาสอบถามทั้งหมด และหากข้อเท็จจริงปรากฏก็จะต้องได้รับการลงโทษทางวินัยเช่นเดียวกัน ซึ่งการพิจารณาเรื่องโทษทางวินัย หนักสุดคือพิจารณาไล่ออก

ขณะที่ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตรอง ผบช.น. ได้สอบถามกับทางทนายตั้มว่าเอกสารที่นำมายื่นในวันนี้ใช้เอกสารเดียวกับที่นำไปยื่นกับ บก.ปปป. หรือไม่ พร้อมกับถามว่าทนายตั้มว่า จะเข้ามาให้ปากคำกับคณะกรรมการฯ อย่างเร็วที่สุดในวันที่เท่าไร ซึ่งทางทนายตั้ม ตอบกลับว่า ภายในอาทิตย์หน้าจะมาให้การพร้อมกับนำตัวพยานมาด้วย

ส่วนเรื่องการลงโทษทางวินัยนั้น พล.ต.ท.อำนวย ระบุว่า จะต้องไปตรวจสอบดูว่าวินัยร้ายแรงหรือไม่ ถ้าหากวินัยร้ายแรงก็จะต้องมีการพิจารณาปลดออกหรือไล่ออก แต่ถ้าวินัยไม่ร้ายแรงก็จะต้องมาพิจารณาดูอีกที ส่วนในกรณีหากศาลยกฟ้องในภายหลัง ต้องเรียนว่าในบางเรื่องอาจผิดวินัยแต่ทางอาญาไม่ผิดก็เป็นไปได้ แต่จากการที่เสื่อมเสียเกียรติยศการเป็นตำรวจก็จะต้องไปพิจารณาในรายละเอียดประกอบด้วย ทั้งนี้คณะกรรมการได้เตรียมคำถามไว้สอบถามทนายตั้มแล้ว แต่ทราบว่าทนายตั้มติดธุระในช่วงกลางวัน คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะเริ่มการสอบปากคำทนายตั้มได้

พล.ต.ท.อำนวย ระบุอีกว่า กรณีการกลับเข้ามารับตำแหน่งหรือเป็นแคนดิเดตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้น วินัยบางเรื่อง การพิจารณาของ ก.ร.ตร. อาจจะพิจารณาถึงวินัย และการกระทำความผิดวินัยบางเรื่องนั้น ถ้าทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศและศักดิ์ศรีของตำรวจ อาจจะเป็นข้อในการพิจารณาในการแต่งตั้ง เลื่อนตำแหน่งในอนาคตได้ ยืนยันว่าคณะกรรมการชุดนี้มีอิสระในการตรวจสอบข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม หากตรวจสอบแล้วมีการพิจารณาให้ออก ไล่ออกหรือปลดออก ตำรวจต้องไปยื่นอุทธรณ์ที่คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ ก.พท.ตร. ส่วนคดีทางอาญานั้น เป็นหน้าที่ที่ต้องพิสูจน์ตามกระบวนการของกฎหมาย แต่หากการพิจารณาของ ก.ร.ตร. พบว่ามีคดีความผิดตามอาญา ก็จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาต่อไป.