เมื่อเวลา00.15น. วันที่  5 เม.ย.67 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152

นายปานปรีย์  พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาร์ ว่า เป็นที่ทราบกันดี สถานการณ์มีความรุนแรง ขัดแย้งมาอย่างยาวนาน มีความซับซ้อนสูง มีผู้หนีภัย 77,000 คน กระจายอยู่ในศูนย์พักพิง 9 แห่ง  ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทยและภาคประชาสังคม ที่ได้รับการสนับสนุนการเงินจากต่างประเทศ  และล่าสุด วันที่ 3 เม.ย. มีชาวเมียนมาร์เหลือผู้ลี้ภัยที่ศูนย์อุ้มผาง จ.ตาก ประมาณ 70 กว่าคน   โดยเรื่องความห่วงใยของสมาชิกว่าพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว สามารถจะรองรับผู้ที่ลี้ภัยจากเมียนมาร์มาได้หรือไม่นั้น ตนขอชี้แจงว่าตลอดแนวชายแดนไทย – เมียนมาร์ มีศูนย์พักพิงรองรับได้จำนวน 100 แห่ง และขณะนี้รองรับได้ประมาณ 100,000 คน ซึ่งการดูแลมีระดับมาตรฐานสากล ส่วนข้อเสนอการจัดตั้งเซพตี้โซนเป็นความคิดที่ดีมาก โดยทางฝ่ายไทยได้เคยมีดำริที่จะเสนอเรื่องนี้ต่อฝ่ายเมียนมาร์ แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา 

นายปานปรีย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนข้อกังวลเรื่องการลี้ภัยเพิ่มขึ้น ที่ อ.แม่สอด ยังอยู่ในวิสัยที่ไทยสามารถบริหารจัดการได้ ซึ่งมีการประเมินสถานการณ์สู้รบตลอดเวลา หากมีการลี้ภัยทะลักชายแดนกลับเข้ามาในเขตของไทยก็มีการประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา เตรียมพร้อมรองรับ ส่วนการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมรัฐบาลได้ดำเนินการมาแล้วเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่กะเหรี่ยง ใน 3 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความช่วยเหลืออาจไม่มากนัก เพราะเป็นโครงการนำร่อง หากประสบความสำเร็จก็จะขยายไปยังพื้นที่ต่างๆต่อไป  ส่วนที่บอกว่าจะเป็นการสร้างภาพหรือเอาหน้านั้นคงไม่ใช่อย่างที่กล่าวหา เพราะการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นเรื่องดี ซึ่งเป็นการเริ่มต้นเท่านั้น ยังไม่ได้ทำในพื้นที่อื่นๆ

รมว.ต่างประเทศ กล่าวต่อว่า  สำหรับนโยบายการต่างประเทศ  วันนี้ต้องมองในมุมกว้าง ทั้งด้านความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ ความมั่นคง เพื่อผลประโยชน์ชาติและชาวไทย ซึ่งรัฐบาลกำหนดเป้าหมาย 3 ข้อ คือ1.เร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นด้านการทูต  2.แสดงจุดยืนด้านการต่างประเทศอย่างสมดุลย์  3. แสดงบทบาทหน้าที่สร้างสรรค์   ซึ่งนโยบายต่างประเทศจะสอดคล้องกับปัจจุบันและรองรับต่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคต พร้อมทั้งใช้นโยบาย “การทูตเชิงรุก” ในการทำงาน ประสานงานระหว่างประเทศต่างๆ และการเข้าไปร่วมแต่ละเวทีในแต่ละประเทศเป็นการตอกย้ำจุดยืนของไทยในเวทีโลก เช่น การส่งเสริมสันติภาพโลก และสถานการณ์ในปัจจุบันไทยไม่สามารถที่จะเลือกข้างในประเทศใดได้ ทั้งนี้ข้อเสนอแนะในการอภิปรายที่เป็นประโยชน์รัฐบาลน้อมรับไปพิจารณาพิจารณาดำเนินการ

”ตาชั่งที่ท่านว่ามันเอียง ผมกลับมองว่ามันจะสมดุลย์มากกว่า เพราะว่าเรื่องการค้า การลงทุนที่ท่านบอกว่าเราเน้นทางนั้นมากเกินไป ผมคิดว่าไม่ใช่ และเป็นครั้งแรกที่เราได้รับเชิญร่วมประชุมซัมมิทฟอรั่ม ที่ประเทศเกาหลีและได้เป็นคีโน้ตการประชุมซัมมิทที่นิวยอร์ก” นายปานปรีย์ กล่าว.