เมื่อวันที่ 6 เม.ย.67 .ย.บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการเหมืองทองคำอัครา จ.พิจิตร-เพชรบูรณ์-พิษณุโลก ส่งจดหมายชี้แจงผ่านสื่อมวลชน ว่าตามที่มีการอภิปรายรัฐบาลของสส.พรรคฝ่ายค้านในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 4 เม.ย.67 ถึงประเด็นเกี่ยวกับบริษัท อัคราฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการความคืบหน้าของกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด และการกลับมาเปิดดำเนินการของเหมืองแร่ทองคำชาตรีของอัครา นั้น บริษัทฯ ขอชี้แจงรายละเอียดเพื่อความเข้าใจดังนี

default

บริษัทฯ ได้รับการต่ออายุประทานบัตรในพื้นที่ประทานบัตรเดิม ไม่ใช่พื้นที่ใหม่ สำหรับอาชญาบัตรพิเศษจำนวน 44 แปลง ที่ได้รับอนุญาตนั้น บริษัทฯได้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ตั้งแต่ปี 2546 และ 2548 ซึ่งคำขอดังกล่าวถูกชะลอการอนุมัติไว้ ภายหลังจากที่ได้มีการประกาศบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ที่เกี่ยวข้อง จึงได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 รวมทั้งได้ดำเนินการตามกรอบนโยบายบริหารจัดการแร่ทองคำ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องจนครบถ้วน ซึ่งการออกอาชญาบัตรพิเศษดังกล่าว เป็นเพียงการให้สิทธิในการสำรวจแร่ในพื้นที่ในอาชญาบัตรพิเศษเท่านั้น มิใช่สิทธิ์ในการทำเหมืองแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ก่อนเข้าปฎิบัติงานในพื้นที่ บริษัทฯจำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดินอย่างถูกต้องเสมอ หากสำรวจพบแหล่งแร่ใหม่ บริษัทฯ ก็ต้องทำการศึกษาความเป็นไปได้ และความคุมค่าของการทำเหมืองก่อนที่จะขออนุญาตทำเหมืองแร่ตาม พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และใช้เวลานานพอสมควร

สำหรับผงทอง (Sludge) ที่ถูกกล่าวถึงนั้น เป็นผงทองที่ตกค้างอยู่ในกระบวนการผลิตของบริษัทฯ มาตั้งแต่ที่มีคำสั่งให้ระงับการประกอบกิจการ จึงถือเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ โดยภายหลังจากที่บริษัทฯ ปฏิบัติทุกอย่างตามกฎหมาย และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้ชำระค่าภาคหลวงจำนวน 34 ล้านบาท ครบถ้วนแล้ว จึงนำไปถลุงเป็นโลหะทองคำตามกระบวนการผลิตตามปกติ ไม่ได้เป็นข้อแลกเปลี่ยนทางคดีแต่ประการใด

หลังจากที่กลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้งเมื่อเดือนมี.ค.66 อัคราเป็นผู้ผลิตและส่งต่อทองคำในรูปแบบแท่งโดเร่ให้ผู้ประกอบการไทยทำการถลุง แปรรูป และจัดจำหน่ายต่อไป ซึ่งถือเป็นการเชื่อมต่อสายการผลิตทองคำ และยกระดับการแข่งขันของไทยกับสินค้าทองและเงินจากประเทศอื่น ทำให้สินค้าทองและเงินไทยได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น ลดหย่อนภาษีนำเข้าของประเทศปลายทางจากการพิสูจน์ประเทศต้นทาง (Country of Origin) ว่าใช้ทองที่ถลุง สกัดและแปรรูปในประเทศไทย สร้างแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ทองและเงินไทยในตลาดต่างประเทศ

ในเรื่องของมาตรการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นั้น นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายความยั่งยืนขององค์กร กล่าวว่า เป็นไปตามที่น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ชี้แจงว่าคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบนโยบายด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพราะแร่คือความมั่นคงของประเทศ และผู้ประกอบการรายอื่นก็ได้รับสิทธิ์เช่นเดียวกัน สำหรับอัคราได้ลงทุนประมาณ 3,250 ล้านบาท ในการยกเครื่องซ่อมบำรุงเครื่องจักร โรงประกอบโลหกรรม อุปกรณ์ในการทำเหมือง การซ่อมแซมโครงสร้างต่าง ๆ เพื่อให้สามารถกลับมาเปิดทำการได้อย่างเต็มรูปแบบ


ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศผ่านการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประเทศ อาทิ การซื้อสินค้าและบริการ การสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจต่อเนื่องในประเทศไทยเป็นเงินกว่า 32,000 ล้านบาท การชำระค่าภาคหลวงกว่า 4,800 ล้านบาท การจ้างงานทั้งโดยตรงและผ่านผู้รับเหมาของบริษัทฯ กว่า 1,000 คน โดยร้อยละ 99 เป็นคนไทย และร้อยละ 90 เป็นประชาชนในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวได้อยู่กันพร้อมหน้า ไม่ต้องอพยพย้ายถิ่นเพื่อหางานทำ นอกจากนี้หากจะพิจารณาเฉพาะช่วงที่เหมืองแร่ทองคำชาตรีกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้งเมื่อเดือนมี.ค.66 อัคราชำระค่าภาคหลวงแล้ว 358 ล้านบาท และได้สมทบทุนเข้ากองทุนจำนวน 4 กอง อีกกว่า 74 ล้านบาท เพิ่มเติมจากเดิมที่สมทบไปแล้วกว่า 243 ล้านบาท เพื่อเป็นอีกหนึ่งกลไกในการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน

“ขอขอบคุณรัฐบาลไทยที่ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตามหลักกฎหมายและข้อเท็จจริง โดยยึดผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และขอยืนยันว่าการดำเนินงานของบริษัทไม่เคยส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม ตลอดเวลาที่ผ่านมา ความเป็นอัคราไม่ได้ทำให้บริษัทฯได้มาซึ่งสิทธิพิเศษเหนือผู้ประกอบการอื่นแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม การดำเนินการทุกอย่างของอัครามีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดและรัดกุม การจะได้รับอนุญาตให้กระทำการใดๆในแต่ละครั้งนั้น เรียกได้ว่าเลือดตาแทบกระเด็น” นายเชิดศักดิ์ กล่าว