เทศกาลวันหยุดเป็นช่วงเวลาสำคัญในการเพิ่มยอดขายของธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากผู้บริโภคมีแนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 12-16 เม.ย. 67 แรงงานไทยส่วนหนึ่งจะเดินทางกลับบ้านเกิดที่ต่างจังหวัด

ขณะเดียวกัน ก็จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ขับเคลื่อนการใช้จ่ายของของผู้บริโภคให้เพิ่มสูงขึ้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่า ในช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลสงกรานต์ จะมีเม็ดเงินที่หมุนเวียนมาจับจ่ายใช้สอยรวมทั้งสิ้น 24,420 ล้านบาท โดยร้านค้าปลีกขนาดใหญ่และร้านค้าปลีกระดับชุมชน ต่างก็เดินหน้าเปิดตัวแคมเปญเพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงเทศกาลสงกรานต์

อย่างไรก็ตาม หากขาดการวางแผนการจัดการที่เหมาะสม ผู้ค้าปลีกอาจต้องเผชิญกับการสูญเสียลูกค้าให้กับคู่แข่งรวมถึงสูญเสียความภักดีจากลูกค้าแทนที่จะรักษาผลกำไรและการเติบโตของยอดขาย เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อยอดขายสินค้าอื่นๆ การคาดการณ์กำลังซื้อที่เหมาะสมนั้นสำคัญอย่างยิ่ง และเพื่อให้จัดการได้อย่างแม่นยำ ผู้ค้าปลีกต้องเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่วางสินค้าที่เหมาะสมและการเติมสินค้า เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว

สก็อตต์ เฮเยอร์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์อาวุโส ด้านพื้นที่และการจัดวางสินค้า รีเล็กซ์ โซลูชันส์ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงการจัดการกับคลังสินค้าในช่วงเทศกาล ผู้ค้าปลีกส่วนใหญ่มักพบเจอผลลัพธ์ว่ามีสินค้าคงเหลือในคลังสินค้าเมื่อจบช่วงเทศกาล ซึ่งส่งผลให้เกิดเป็นขยะ เกิดสินค้าคงคลังที่ไม่มีความเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวช้า รวมถึงปัญหาสินค้าล้นคลัง ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดขายที่ลดลงอย่างเลี่ยงไม่ได้

ผู้ค้าปลีกส่วนใหญ่ทราบถึงความเสี่ยงเหล่านี้ดี และหลายรายมีกระบวนการคาดการณ์และการจัดสรรที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว โดยผู้ค้าปลีกเหล่านี้อาจแก้ไขปัญหาเบื้องต้นในการจัดการคลังสินค้าได้แต่ยังคงขาดความเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เนื่องจากขาดการคาดการณ์ในการจัดการกับพื้นที่ขายและเติมสินค้าให้เหมาะสม ท้ายที่สุดแล้ว ผู้ค้าปลีกจะสูญเสียยอดขาย เนื่องจากการจัดการพื้นที่ที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือการใช้ทรัพยากรทั้งหมดเพื่อจัดการกับชั้นวางสินค้าที่ว่างเปล่า ซึ่งแน่นอนว่าสุ่มเสี่ยงต่อมาตรฐานการบริการลูกค้า

การคาดการณ์ความต้องการของลูกค้าคือสิ่งสำคัญ แผนบริหารจัดการแบบ “one size fits all” จะกลายเป็นการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่เหมาะสมสำหรับร้านค้าในพื้นที่ที่มีรูปแบบ ขนาด และปริมาณการขายที่แตกต่างกัน เมื่อถึงช่วงเวลาของเทศกาลที่การคาดการณ์ยอดขายของสินค้าเพิ่มขึ้น สินค้าเหล่านี้ควรถูกกระจายไปยังตำแหน่งที่หลากหลาย เช่น ชั้นวาง บริเวณหัวแถวของชั้นวาง โต๊ะวางสินค้า และอื่นๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายให้สูงขึ้น

ผู้ค้าปลีกมักประสบกับปัญหาที่ยอดขายพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และชะลอตัวลงก่อนที่จะจบเทศกาล ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการที่จะเริ่มลดพื้นที่ขาย และเปลี่ยนสินค้า เช่น วางปืนฉีดน้ำและเสื้อลายดอกในบริเวณพื้นที่สำหรับสินค้าลดราคาเพื่อกระตุ้นการซื้อ รวมถึงการนำสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลออกจากชั้นวาง โดยทั้งหมดนี้ เพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างสำหรับสินค้าในเทศกาลถัดไปหรือแคมเปญใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ โซลูชันการวางแผนจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยวิเคราะห์ความแตกต่างของการจัดการพื้นที่ของร้านค้าแต่ละแห่ง เช่น คำนวณวิธีการเพิ่มรายได้ให้สูงสุด และการปรับปรุงยอดขายในร้านค้าเหล่านั้นได้อย่างอัตโนมัติ นั่นหมายถึง วางสินค้าตามเทศกาลที่มีอัตรากำไรสูงในตำแหน่งที่มีโอกาสในการขายมากที่สุด และจัดวางสินค้าประเภทต่างๆ อย่างเหมาะสมตลอดทั้งปี วิธีการนี้ ผู้ค้าปลีกจะไม่เพียงสามารถเพิ่มยอดขายสินค้าในช่วงเทศกาลเท่านั้น แต่ยังสามารถเพิ่มยอดขายสำหรับสินค้าทั่วไปได้อีกด้วย

สก็อตต์ กล่าวต่อว่า ลูกค้ารายหนึ่งของรีเล็กซ์ โซลูชันส์ แบ่งปันผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจจากการเปลี่ยนแปลงการจัดการเติมสินค้า การวางแผนพื้นที่และการจัดวางสินค้า โดยยอดขายของสินค้าที่ถูกปรับปรุงตามแนวทางใหม่วางแผนใหม่และการเติมสินค้าให้ครบหมวดหมู่ สร้างยอดขายเพิ่มขึ้นได้ถึง 2.2% ที่สำคัญสามารถลดระดับสินค้าคงคลังในร้านค้าลดลงถึง 20%

ในการจัดการการขายสินค้าตามเทศกาล ผู้ค้าปลีกจำเป็นต้องวางแผนอย่างละเอียดในการจัดการแต่ละร้านค้า ตามหมวดหมู่ และรายสัปดาห์ ในบางกรณี แม้แต่การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยระหว่างวันก็อาจส่งผลกระทบได้ ซึ่งน่าเสียดายว่า การวางแผนดำเนินการโดยที่ไม่พึ่งพาเทคโนโลยีนั้น จำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานจำนวนมาก เพื่อแลกกับผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้น

ระบบการวางแผนที่ทันสมัย สามารถช่วยให้กระบวนการวางแผนสินค้าตามเทศกาลเป็นไปโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้โซลูชันที่มาพร้อมกับข้อมูลอย่างละเอียดสำหรับร้านค้าจะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อทีมวางแผนส่วนกลาง โดยผลลัพย์ที่ได้คือระหว่างช่วงเทศกาลที่จำเป็นต้องจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น ผู้ค้าปลีกสามารถใช้เวลาเหล่านั้นมุ่งความสนใจไปยังสิ่งอื่นๆ ที่มีความสำคัญกว่า โดยเฉพาะการดูแลลูกค้า