นายราจีฟ บาวา หัวหน้าสายงานด้านดิจิทัลแพลตฟอร์มโซลูชัน บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ทรู ดิจิทัล มุ่งมั่นเชื่อมโยงให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ต้องเร่งทรานสฟอร์มองค์กร เพื่อสร้างการเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยทั้ง เทคโนโลยี ข้อมูล และบุคลากร ที่จะขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน โดย ทรู ดิจิทัล มีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านการวางแผนกลยุทธ์ด้านข้อมูล ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ตรงโจทย์ธุรกิจ และการบริหารจัดการข้อมูล โดยใช้ Generative AI ช่วยวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลจากหลากหลายแหล่ง รวมถึงบริการแพลตฟอร์มข้อมูล (Data Platform as a Service) ที่ช่วยประหยัดต้นทุนโครงสร้างพื้นฐานในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูล มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วและรองรับความต้องการใช้งานได้ทุกรูปแบบ

ทั้งยังโดดเด่นด้วยความสามารถในการผสานข้อมูลจากหลากหลายแหล่ง และใช้ AI เป็นเทคโนโลยีหลักในการวิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลขั้นสูง นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ช่วยให้เข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง และช่วยในการตัดสินใจของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ อาทิ Google Cloud หรือ Databricks เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้องค์กรธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเทคโนโลยีขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

นายพุฒิ ตั้งตระกูลวงศ์ หัวหน้าส่วนวิศวกร บริษัท Google Cloud กล่าวว่า ในโลกยุคดิจิทัล มีดาต้าเกิดขึ้นมากมาย การนำดาต้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ จึงเป็นความท้าทายขององค์กรธุรกิจ ซึ่งในปัจจุบัน การวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคและตลาดได้ทันท่วงทีนั้น องค์กรควรพิจารณาและผนวกองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1) คลาวด์ (Cloud) แพลตฟอร์มบริการโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการบริหารจัดการข้อมูล ด้วยคุณสมบัติพิเศษในการรองรับการจัดการข้อมูลปริมาณมหาศาลได้ อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่น สามารถตอบสนองความต้องการใช้งานที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ โดยที่องค์กรไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนหรือลงทุนอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เพิ่ม จึงช่วยลดความกังวลในเรื่องทรัพยากรต่างๆ รวมถึงต้นทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที

2) ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ และเลือกโซลูชันที่ตอบโจทย์ตรงปัญหา อาจเลือกใช้ Machine Learning (ML) หรือ AI หรือ Generative AI ทำงานควบคู่กับนักวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้เกิดระบบอัตโนมัติ (Automation) ที่วิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลได้รวดเร็ว แม่นยำและถูกต้องมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน องค์กรควรสร้าง awareness ให้ทุกคนเห็นความสําคัญของการใช้ดาต้า ควบคู่กับการ democratize ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ดาต้าและ AI ได้สะดวกสบายเพียงพอในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด

และ 3) ข้อมูล หรือ data เป็นส่วนที่สำคัญและจำเป็นที่สุดที่จะต้องมีทั้งความถูกต้องและชัดเจน เพื่อให้ AI นำไปวิเคราะห์และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องและแม่นยำมากที่สุด โดยชุดข้อมูลที่นำมาใช้อาจมาจากหลายแหล่ง เพื่อให้มีทั้งในเชิงปริมาณ ซึ่งมีตัวแปรเรื่องเวลา (time series) เข้ามาเกี่ยวข้อง สามารถใช้ดู pattern ได้ และในเชิงความหลากหลาย ใช้ attribute หรือ feature ของข้อมูลมาวิเคราะห์และช่วยในการตัดสินใจในเชิงธุรกิจได้เช่นกัน

ด้าน นายฟูเกียรติ จุลนวล สถาปนิกด้านโซลูชัน บริษัท Databricks ผู้ให้บริการด้าน Data & AI Intelligence Platform กับองค์กรกว่า 12,000 แห่งทั่วโลก ได้ให้มุมมองการใช้ข้อมูลเพื่อตอบโจทย์องค์กรธุรกิจอย่างน่าสนใจว่า การดำเนินธุรกิจในแต่ละวัน ทำให้มีข้อมูลเกิดขึ้นมหาศาล และข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาใช้ตอบคำถามของปัญหาต่างๆ ในการทำธุรกิจ ช่วยในการคาดการณ์และตัดสินใจได้จากข้อมูลจริงที่เชื่อถือได้มากกว่าการคาดเดา โดยกระบวนการของการใช้ข้อมูล มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ ข้อมูล คือ องค์กรจะต้องใช้ข้อมูลอะไรบ้างและมีแหล่งข้อมูลมาจากที่ใดบ้าง เพื่อตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของธุรกิจ ตั้งต้นจากข้อมูลที่มีอยู่ และข้อมูลที่ยัง “ขาด” จากนั้นจึงหาข้อมูลมาเพิ่มเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของธุรกิจ อาทิ มีพันธมิตรด้านข้อมูล เช่น Telco Data, ทำแคมเปญการตลาด เช่น โฆษณาหรือระบบสมาชิก รวมถึงใช้เทคโนโลยี AI หรือ Machine Learning เข้ามาช่วย

ซึ่งการใช้ข้อมูลจากหลายแหล่งเข้ามาประมวลผลจะช่วยสร้างผลลัพธ์ได้มากขึ้น และทำให้องค์กรขึ้นโปรเจกต์ใหม่ๆ ได้เร็วขึ้น ถัดมาคือ การประมวลผล สามารถดูได้ทั้งอดีต ปัจจุบัน หรือ ดูอนาคต ซึ่ง AI และ Generative AI สามารถช่วยจัดการบริหารข้อมูล ทำให้เกิดประโยชน์หรือได้ผลลัพธ์ที่ดีและเหมาะสมมากขึ้น และสุดท้ายคือ ผลลัพธ์ (Output) ใช้ประโยชน์ในองค์กรได้ในภาพกว้างหรือเฉพาะเจาะจงบางกลุ่ม 

อย่างไรก็ตาม ก่อนเริ่มต้นกระบวนการใช้ข้อมูล องค์กรควรกำหนดวัตถุประสงค์ของธุรกิจให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถประเมินระดับของความสำเร็จของโปรเจกต์ต่างๆ และตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อหรือจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้