เมื่อวันที่ 20 เม.ย. นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ (บอร์ดค่าจ้าง หรือไตรภาคี) ชุดที่ 22 ครั้งที่ 3/2567 เตรียมปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 รอบที่ 3 ทั้งประเทศ 400 บาท แต่ดำเนินการเฉพาะบางกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มโลจิสติกส์ ว่า ถ้าทำลักษณะนี้ มองแล้วไม่ได้ตอบโจทย์ เพราะถ้าจะปรับทั้งประเทศก็ปรับเลย ไม่ต้องบอกว่าปรับแค่กลุ่มโลจิสติก์ส์ หรือเฉพาะกลุ่มไหน แต่การปรับอย่างนี้เป็นลักษณะของการเมือง ไม่ได้ปรับเพราะความเดือดร้อนของคนงาน ตนสังเกตและวิเคราะห์ เห็นว่า คนงานที่อยู่ในโรงงานเวลาเงินขาดมือ ไม่พอใช้ อยู่ตรงไหนมันก็ไม่พอใช้ ดังนั้นมาบอกว่าจะปรับโลจิสติกส์ หรืออื่นๆ ถ้าจะปรับทั่วประเทศ ก็เอาให้เท่าๆ กันไปเลย อย่างนั้นถึงจะเป็นการช่วยเหลือคนงาน เอาเงินเข้ากระเป๋าคนงาน แล้วไปคุยกับนายจ้างว่า ถ้าปรับรอบนี้ นายจ้างจะได้อานิสงส์จากการที่แรงงานมีเงินซื้อของที่ท่านผลิตเอง ธุรกิจนั้นก็จะดีขึ้น เหมือนธุรกิจโรงแรม ในบางพื้นที่ ใน 10 จังหวัด ที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำรอบ 2 ถามว่ามีใครได้แค่ไหน มีคนทำการศึกษาวิจัยหรือไม่

“ฉะนั้นที่เขาปรับนี้ เป็นการปรับในเชิงการเมืองมากกว่า เพราะเขาหาเสียงไว้ว่าจะมีการปรับ 400 บาท และจะปรับให้ถึง 600 บาท หากอยู่ครบ 4 ปี ก็เป็นการเล่นแร่แปรธาตุแบบนี้ไปตลอด ผลสุดท้ายคนงานได้กะปริดกะปรอย” นายชาลี กล่าว

นายชาลี กล่าวต่อว่า ในส่วนของค่าครองชีพที่รัฐบาลบอกว่าจะควบคุมทุกครั้งที่มีการปรับเพิ่มค่าจ้างฯ นั้น ตนมองว่า โดยหลัก หากรัฐบาลคุมราคาวัตถุดิบต้นทางให้ถูก ไม่ขยับเพิ่มเงินไป 3-4 ต่อ ถ้าทำได้แบบนี้ไม่ต้องไปปรับค่าจ้างขั้นต่ำก็ได้ ค่าแรงเท่าที่มีก็อยู่ได้ เพราะค่าครองชีพไม่สูง แต่วันนี้คุณเล่นไปไม่ควบคุมเลย แล้วไปปรับค่าจ้างญ ไล่ตามวัตถุดิบที่เพิ่มไปก่อนแล้ว แบบนี้ไม่มีประโยชน์ ปรับค่าจ้างไปก็ไปอยู่ที่นายทุนหมด แล้วเล่นประกาศให้รู้ล่วงหน้า แม้ไม่รู้ว่าจะได้ปรับจริงๆ เมื่อไหร่ แต่ราคาสินค้าขึ้นไปรอก่อนแล้ว พอถึงวันปรับจริงราคาของก็ปรับเพิ่มอีก เท่ากับว่าราคาสินค้าปรับเพิ่ม 2 เด้ง แรงงานก็เสีย 2 ต่อ ถามว่าเอามันสมองข้างไหนมาคิด ถึงออกมาเป็นแบบนี้ ถ้าจะทำอะไรต้องให้มีความชัดเจน แล้วดำเนินการ ไม่ใช่ป่าวประกาศหลายรอบ ย้ำว่า นี่ไม่ได้โจมตีรัฐบาล แต่โจมตีหลักคิดของรัฐบาลที่คิดอะไรไม่คิดหน้าคิดหลัง แต่เล่นเอาออกมาเพื่อต้องกาหาเสียง ต้องการเอาหน้าจากประชาชนที่อาจจะคิดไม่เท่าทัน เหมือนเงินดิจิทัล ประกาศมากี่ทีแล้ว แต่เอาจริงก็ไม่รู้ว่าจะได้ใช้เมื่อไหร่.