นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ราคาดีเซล ที่ล่าสุดมีการทยอยปรับขึ้น เนื่องจากกระทรวงการคลังไม่ต่ออายุมาตรการภาษีสรรพสามิตดีเซลลิตรละ 1 บาท และส่งผลให้ดีเซลมีการขยับราคาลิตรละ 1 บาท มาอยู่ที่ลิตรละ 30.94 บาท จากที่ตรึงราคาไว้ลิตรละ 30 บาทว่า ยอมรับว่า หากยังทยอยขึ้นต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมมีต้นทุนที่ต่างกัน ทั้งกระทบทางตรงและทางอ้อมผ่านค่าขนส่ง หากอุตสาหกรรรมใดไม่สามารถแบกรับภาระได้ ในที่สุดก็ต้องผลักภาระไปยังผู้บริโภคในการปรับขึ้นราคาสินค้า

“ขณะนี้ภาคการผลิตเองมีทั้งต้นทุนค่าไฟที่สูง และมีเรื่องของดีเซลเข้ามา แต่ละอุตสาหกรรมก็จะมีผลกระทบต่างกันไป แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนใหญ่และวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เอง แม้มีต้นทุนที่สูงขึ้นพยายามที่จะต้องตรึงราคา เนื่องจากสินค้าราคาต่ำจากจีน ยังคงเข้ามาแข่งขันทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนต้องทนแบกรับภาระไปก่อน แต่ที่สุดไม่ไหวก็อาจต้องขยับราคาหรือเลิกกิจการก็เป็นไปได้” นายเกรียงไกร กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูทิศทางภูมิรัฐศาสตร์โลกแล้วก็คงต้องติดตามใกล้ชิด เพราะเดิมการสู้รบระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ดูเหมือนจะขยายไปสู่สงครามในภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่ที่สุดกลับมีความระมัดระวังกันมากขึ้น เนื่องจากผู้นำสหรัฐ และสหภาพยุโรป ไม่ต้องการให้เกิดการบานปลาย เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันจะสูงเกิดผลกระทบ ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อของสหรัฐ และยุโรปเพิ่มสูง ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจ ดังนั้นราคาน้ำมันอาจจะไม่ได้ปรับรุนแรงมากนัก แต่ทั้งนี้ก็ต้องติดตามใกล้ชิด

แบกต้นทุนหลักแอ่นกำลังซื้ออ่อนแอ

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในมุมมองของเอกชน ซึ่งเป็นภาคการผลิตสินค้า ต้องการให้ต้นทุนการผลิตต่างๆ ต่ำที่สุด ราคาน้ำมันดีเซลก็เช่นกัน แม้มีสัดส่วนในต้นทุนการผลิตสินค้าน้อย แต่ก็เป็นต้นทุนหลักในการขนส่งสินค้า เมื่อต้นทุนการขนส่งปรับขึ้น เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ผลิตจะไม่ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกัน ยังมีต้นทุนจากราคาพลังงานอื่น และค่าไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงอัตราดอกเบี้ย และค่าแรงงานขั้นต่ำที่ต้องการให้ขึ้นไปถึงวันละ 400 บาทในสิ้นปีนี้อีก แต่การปรับขึ้นราคาขายสินค้าเป็นไปได้ยาก เพราะภาครัฐขอความร่วมมือตรึงราคา อีกทั้งกำลังซื้อประชาชนอ่อนแอ และการแข่งขันที่รุนแรงของผู้ประกอบการด้วยกันเอง ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นไว้เอง หากรับภาระไม่ไหว ก็อาจเห็นการลดกำลังการผลิตสินค้าลงอีกจากปัจจุบันก็ยังใช้การผลิตไม่เต็มที่อยู่แล้ว

“ถ้าถามว่า หากราคาน้ำมันดีเซลต้องปรับขึ้นจริงๆ ต้องไม่เกินลิตรละเท่าไร ภาคเอกชนจะรับได้ ก็ต้องบอกว่า เอกชนต้องการให้ต้นทุนต่ำที่สุด แต่ราคาน้ำมันดีเซล รัฐคงอุ้มต่อไปไม่ได้ เพราะเงินกองทุนน้ำมันติดลบเป็นแสนล้านบาทแล้ว ถ้าอุ้มไม่ได้ก็ต้องปล่อย แต่เชื่อว่า รัฐคงจะขึ้นแบบไม่กระชาก และไม่ปล่อยให้ขึ้นมากเกินไป ไม่เช่นนั้นรัฐบาลอาจจะล้ม เพราะจะเกิดปัญหาตามมามากมาย และประชาชนไม่มีกำลังซื้อ”

นายพจน์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา เมื่อราคาพลังงานสูงขึ้น รัฐบาลในอดีตจะมีนโยบายให้ประชาชนประหยัดการใช้พลังงาน ขณะนี้ ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องรณรงค์ให้ทุกคนช่วยกันประหยัดการใช้พลังงานได้แล้ว สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาทนั้น อยากให้รัฐบาลปรับขึ้นในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานไทยเป็นหลัก เพื่อแรงงานไทยจะได้รับประโยชน์ ไม่ใช่ปรับขึ้นทุกอุตสาหกรรมเท่ากันหมด เพราะบางอุตสาหกรรม เช่น แปรรูปอาหารทะเล ใช้แรงงานต่างด้าวมากถึงกว่า 80% ไม่เช่นนั้น แรงงานต่างด้าวจะได้ประโยชน์มากกว่า

แนะขึ้นดีเซลทีละนิดอย่าทะลุ 32 บ.

นายธวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ราคาพลังงานที่สูงขึ้น เป็นจุดเปราะบางของเศรษฐกิจไทย เพราะจะทำให้ต้นทุนต่างๆ สูงขึ้น ท่ามกลางต้นทุนอื่นๆ สูงอยู่แล้ว ทั้งดอกเบี้ย และค่าแรง ขณะที่กำลังซื้อของประชาชนไม่มี โดยมองว่า หากจะกลับขึ้นไปอยู่ที่ลิตรละไม่เกิน 32 บาท เท่ากับก่อนที่รัฐบาลจะตรึงราคาไม่เกินลิตรละ 30 บาทก่อนหน้านี้ ก็น่าจะพอเข้าใจได้ และน่าจะทยอยปรับขึ้น ไม่กระชากขึ้นไปในครั้งเดียว

“หากรัฐปรับขึ้นราคาดีเซลลิตรละ 50 สตางค์ จะดึงเงินออกจากกระเป๋าประชาชนเดือนละประมาณ 1,000 ล้านบาท เมื่อคิดจากการใช้ดีเซลเดือนละ 2,100 ล้านลิตร หากปรับขึ้นลิตรละ 1 บาท ก็จะดึงเงินออกไป 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะยิ่งทำให้กำลังซื้อประชาชนอ่อนแอไปอีก ในขณะที่ อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง และยังไม่มีแนวโน้มลดลง ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเร่งอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทั้งเร่งรัดการใช้งบประมาณแผ่นดิน การใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นต้น เพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีแรงกระตุ้นให้เติบโต”