ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่คนไทยสนใจอย่างมาก สำหรับ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ ดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet)  ที่มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาภาระค่าครองชีพให้ประชาชน เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งในประเทศและนอกประเทศ อีกทั้งในปี 2567 นี้ ตัวเลขจีดีพีของประเทศไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้  จึงจำเป็นต้องเพิ่มเงินหมุนเวียนเข้าไปในระบบ เพื่อให้เม็ดเงินกระจายตัวสู่ท้องถิ่นกับชุมชนต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยเรื่องการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนไปพร้อมกันด้วย

สำหรับรายละเอียดของ  “เกณฑ์ผู้ได้รับสิทธิ” นั้น จะมีกลุ่มเป้าหมายคือประชาชน 50 ล้านคนโดยมีหลักเกณฑ์เบื้องต้น ได้แก่ ต้องมีอายุเกิน16 ปี ณ เดือนที่ลงทะเบียน, ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 2566 เกิน 840,000 บาท, ไม่มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกัน ณ เดือน มี.ค. 2567 เกิน 500,000 บาท 

ส่วน “เงื่อนไขการใช้จ่าย” นั้นในเบื้องต้นก็จะแบ่งเป็น แบบแรก เป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชน 50 ล้านคน ที่ได้รับเงินจำนวน 10,000 บาท ซึ่งกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยจะใช้ข้ามเขตที่อยู่ไม่ได้  และร้านค้าขนาดเล็กที่จะใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ตได้นั้นจะต้องเป็นร้านที่เข้าเกณฑ์ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด เช่น ร้านธงฟ้า ร้านโชห่วย ร้านสะดวกซื้อ ร้านตามปั๊มน้ำมัน มินิมาร์ท ส่วนร้านอาหารและเครื่องดื่มก็ใช้จ่ายได้ แต่มีข้อยกเว้น ได้แก่ สินค้าอบายมุข น้ำมัน สินค้าออนไลน์ และสินค้าที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม ส่วนแบบที่สอง เป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า โดยไม่ได้กำหนดเชิงพื้นที่และขนาด เพียงแต่ในรอบที่ 1จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น โดยตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไปจึงจะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ซึ่งไม่ได้กำหนดขนาดร้าน และจำนวนรอบในการใช้จ่าย

ทั้งนี้ เป้าหมายที่ทางรัฐบาลคาดหวังจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น นอกจากต้องการช่วยเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทย และเพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนแล้ว ในอีกทางนั้น การที่เม็ดเงินของโครงการถูกใช้จ่ายผ่านการซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในร้านค้าที่กำหนดเกณฑ์การใช้จ่ายไว้ ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมตามไปด้วย โดยผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากเม็ดเงินที่หมุนเวียนในระบบจากโครงการนี้จะกระจายไปในทุกกลุ่ม ทั้งเกษตรกร  ผู้ประกอบการ SME ที่ผลิตภัณฑ์สินค้าจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อต่างๆ  โดยเมื่อดูรายชื่อนิติบุคคลของกระทรวงพาณิชย์ ที่มีผู้ยื่นลงทะเบียนอยู่ที่ 900,000 ราย และบุคคลธรรมดาอีกหลายส่วน หรือถ้าดูข้อมูลจากโครงการคนละครึ่งของรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งทางกระทรวงการคลังได้มีการเปิดเผยเกี่ยวกับตัวเลขร้านค้าที่ลงทะเบียนไว้นั้นก็มีจำนวนมากถึง 1,200,000 ร้านค้า ไม่ได้จำเพาะร้านสะดวกซื้อในไทย ที่มีกว่า 20,000 ร้านเท่านั้น เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการใช้จ่ายที่หลากหลาย ดังนั้นเมื่อมีการจับจ่ายใช้สอยและซื้อสินค้ามากขึ้น ย่อมมีการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน และก็แน่นอนว่าเรื่องนี้ย่อมส่งผลดีไม่เฉพาะแค่ระบบเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่เม็ดเงินเที่เกิดขึ้นนั้นยังกระจายตัวกลับไปยังชุมชนและท้องถิ่น รวมถึงทำให้เกิดการจ้างงานแรงงานในพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้จากโอกาสดังกล่าวนี้ด้วย

ทั้งนี้ แต่ถ้ายังไม่เห็นภาพที่ชัดเจน กรณีนี้ก็ขอยก “ร้านสะดวกซื้อ” อย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง โดยปัจจุบันมีข้อมูลว่า ร้านเซเว่นนั้น มีผู้ประกอบการ SME ที่เป็นคู่ค้ากระจายอยู่ในทุกภูมิภาคกว่า 1,216 ราย โดยสินค้าของ SME ที่มีการจำหน่ายผ่านทางร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นนั้น มีประมาณ 9,763 รายการ ประกอบด้วยสินค้าขนมไทย ผลไม้ตัดแต่ง ผักสลัด สินค้าเกษตรแปรรูป ยาดมสมุนไพร และสินค้าอื่น ๆ อีกมากมายหลายรายการ ดังนั้น เมื่อมีการซื้อสินค้ามากขึ้น ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าก็จะผลิตสินค้ามากขึ้น ทำให้ซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรและชุมชนเพิ่มขึ้นตามไป รวมถึงอาจกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานมากขึ้นตามไป ซึ่งกรณีนี้ย่อมส่งผลให้เกิดการกระตุ้นทั้งระบบเศรษฐกิจตามไปด้วยนั่นเอง ซึ่งนี่เป็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจาก “โครงการดิจิทัลวอลเล็ต” ที่ไม่ได้เป็นประโยชน์แค่กับคนไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีกับเศรษฐกิจในภาพรวมอีกด้วย.