แต่ในปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้กลายเป็นศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพสัตว์ป่าในปากีสถาน ซึ่งเป็นทั้งที่พักพิงของลูกเสือดาวกำพร้าแม่, เสือโคร่งที่ถูกยึดมาจากเจ้าของที่เก็บมันไว้เป็นสัญลักษณ์แสดงสถานะ และหมีที่ถูกบังคับให้เต้น หรือสู้กันเอง เพื่อความสนุกสนานของฝูงชน

นางรีนา ซาอีด หัวหน้าคณะกรรมการจัดการสัตว์ป่าอิสลามาบัด (ไอดับเบิลยูเอ็มบี) กล่าวว่า บรรยากาศและพลังงานทั้งหมดของสวนสัตว์แห่งนี้เปลี่ยนไป นับตั้งแต่มันถูกทำให้ว่างเปล่า

สวนสัตว์อิสลามาบัด มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกในปี 2559 เมื่อนักร้องชื่อดัง “แชร์” เปิดตัวแคมเปญปล่อยช้างเอเชียที่ถูกล่ามโซ่ “คาวาน” ซึ่งเป็นช้างตัวสุดท้ายในปากีสถาน และได้รับการขนานนามว่าเป็น “ช้างที่โดดเดี่ยวที่สุดในโลก”

กระนั้น การปฏิบัติอย่างเลวร้ายกับคาวาน ไม่ใช่กรณีเดียวที่เกิดขึ้นในสวนสัตว์อิสลามาบัด เพราะเคยมีเหตุการณ์สิงโตตาย 2 ตัว เมื่อผู้ดูแลสวนสัตว์พยายามบังคับให้พวกมันออกจากกรงขัง ด้วยการจุดไฟเผากองหญ้าแห้ง อีกทั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สัตว์หลายร้อยตัวที่อยู่ในรายชื่อของสวนสัตว์ ก็หายไปเช่นกัน

กระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของปากีสถาน ระบุว่ามี “ความกังวลอย่างยิ่ง” เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อสัตว์ในสวนสัตว์อิสลามาบัด “ที่ไม่อาจยอมรับได้ และไร้มนุษยธรรม” ในปี 2563 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ศาลสั่งให้ปิดสวนสัตว์แห่งนี้ และช้างคาวาน ถูกย้ายไปยังกัมพูชา

ไม่กี่เดือนหลังจากการปิดสวนสัตว์ ศูนย์ช่วยเหลือขนาดเล็กก็เริ่มลงหลักปักฐานที่นี่ และหลักฐานของการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันโหดร้าย ก็ค่อย ๆ หายไป

“ในตอนนี้ มันเป็นศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพสัตว์ที่เหมาะสม และมีสัตว์อยู่ที่นี่มากกว่า 50 ตัว” ซาอีด กล่าวเพิ่มเติมว่า ทีมงานของศูนย์ ช่วยเหลือสัตว์ไปแล้วมากกว่า 380 ตัว

ด้านนายอามีร์ คาลิล สัตวแพทย์ และผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการขององค์กรสวัสดิภาพสัตว์ระดับโลก “โฟร์ พอว์ส” (Four Paws) ซึ่งกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายช้างคาวาน กลับมายังสวนสัตว์อิสลามาบัดเมื่อไม่นานมานี้ พร้อมกับกล่าวด้วยความซาบซึ้งว่า “ที่นี่มีความหวัง” และเขาหวังว่า ที่แห่งนี้จะกลายเป็นสถานที่สำหรับสัตว์ที่มีอนาคตที่ดีกว่า

อนึ่ง เหล่าสัตว์ที่ถูกพามายังศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ไม่เพียงได้รับบาดเจ็บทางร่างกายเท่านั้น แต่พวกมันยังมีความบอบ ช้ำทางจิตใจด้วย

ทั้งนี้ทั้งนั้น หน่วยงานด้านสัตว์ป่าของปากีสถาน กำลังผลักดันกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งมุ่งเป้าไปยังผู้ลักลอบล่าสัตว์ รวมถึงผู้ดักจับและลักลอบค้าสัตว์ป่าเป็นประจำ ขณะเดียวกัน กฎหมายการจัดการธรรมชาติและสัตว์ป่าอิสลามาบัดฉบับใหม่ จะเสริมสร้างการคุ้มครองสัตว์เช่นกัน แต่ซาอีด กล่าวว่า กฎหมายข้างต้นต้องได้รับการรับรองจากประธานาธิบดีก่อน.

เเมวเเว่น