เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ทีมข่าวเฉพาะกิจ เดลินิวส์ ยังคงเกาะติดปัญหาการก่อสร้างที่ จ.กาฬสินธุ์ งบประมาณกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งจัดสรรให้จังหวัดกาฬสินธุ์ตั้งแต่ปี 2562-2565 เม็ดเงินกว่า 558 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม 8 โครงการ แต่ผู้รับจ้าง ซึ่งเป็นขาใหญ่จาก 2 บริษัท เป็นเครือญาติกัน ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ จนสร้างผลกระทบสร้างความเดือดร้อนให้กับคนภายในชุมชนเมือง และสร้างความหวาดหวาให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามตลิ่งแม่น้ำชี แม่น้ำปาวและแม่น้ำพาน กระทั่ง นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง บินด่วนลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการของกรมโยธาฯ ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมฟัน 2 หจก.รับเหมาใหญ่ (หจก.ประชาพัฒน์-เฮงนำกิจ) สิ้นสุดทางเลือก หมดสิทธิทำงานกรมโยธาฯ เตรียมยกเลิกสัญญาเบื้องต้น 6 โครงการภายในสัปดาห์หน้า หรืออาจจะถูกยกเลิกทั้งหมด 8 โครงการ ขณะที่ผู้รับเหมารายย่อย-ชาวบ้าน เข้าร้องเรียนข้อเท็จจริงยืนยันยกเลิกทั้งหมดภายในสิ้นเดือนนี้

เปิดภาพ ‘อธิบดีกรมโยธา’ ลุยตรวจโครงการก่อสร้างทิ้งงานในกาฬสินธุ์ ก่อนชงเสนอยกเลิก

นายพงศ์รัตน์ กล่าวว่า สำหรับโครงการที่ จ.กาฬสินธุ์ สาเหตุหลักใหญ่คือผู้รับเหมาขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินที่จะไปจ่ายคนงานและซื้อวัสดุมาทำงานได้ต่อ ในช่วงที่ปี 66 ที่ผ่านมาตนได้ลงพื้นที่พร้อมได้กำหนดมาตรการต่างๆ ในลักษณะการดำเนินการทางการปกครอง ซึ่งจะไม่สั่งยกเลิกสัญญาหรือดำเนินการใดๆ โดยไม่มีมาตรการทางการปกครองรองรับ ก็เป็นสิ่งที่กรมโยธาฯ ทำมาอย่างต่อเนื่อง เป็นการกำกับคาดคั้นว่าผู้รับเหมาจะต้องทำแค่ไหน อย่างไร และถ้าไม่ทำก็จะมีหนังสือแจ้งเตือน เพื่อให้หลักฐานครบถ้วนในการที่จะมีการเร่งรัด และเห็นความก้าวหน้าในการทำงาน ทั้งนี้ ในส่วนของการทำงานในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ งบประมาณ 148 ล้านบาท มีหนังสือแจ้งเตือนร่วม 20 ฉบับด้วยกัน ในแต่ละฉบับก็ได้บอกตลอดว่า หากไม่ทำตามแผน หรือหากทำไม่ตามเป้าที่กำหนด กรมโยธาฯในฐานผู้ว่าจ้าง ก็จะยกเลิกสัญญา ซึ่งเป็นการแจ้งเตือนตามหลักการปกครอง โดยดำเนินการมาโดยตลอด

นายพงศ์รัตน์ กล่าวอีกว่า การตรวจสอบเห็นว่า หลังจากที่ทางคณะกรรมการทำการพิจารณา ได้รายงานเข้ามาว่า บัดนี้การแจ้งเตือนก็หลายครั้งแล้ว และดูทีท่าของทางผู้รับจ้างไม่สามารถที่จะทำงานได้ต่อไปอีกแล้ว เพราะว่าหมดสภาพ มีการทิ้งงาน สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนด้วย ซึ่งทางคณะกรรมการพิจารณาก็ได้เสนอเรื่องขึ้นมาแล้ว ผ่านคณะกรรมการต่างๆ อยู่ที่ฝ่ายกฎหมายของกรมโยธาฯ จากนี้แนวทางคือถ้าเป็นลักษณะแบบนี้ กรมโยธาฯ ก็จะดำเนินการยกเลิกสัญญา และสิ่งที่จะเป็นมาตรการตามระเบียบของทางราชการคือ เมื่อยกเลิกสัญญาแล้ว ก็จะถูกเวียนชื่อเป็นผู้ทิ้งงาน และ หจก.ดังกล่าว จะทำงานก่อสร้างไม่ได้อีกเลย ก็กลับกลายเป็นศูนย์ เหมือนกับคนที่ไม่มีผลงานอะไรเลย หากจะเริ่มหรือทำอาชีพนี้ต่อ ก็จะเริ่มต้นจากศูนย์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นมาตรการ เป็นระเบียบของทางราชการ ซึ่งทางกรมโยธาฯ จะทำทันที คาดว่าภายในสัปดาห์หน้า คิดว่าหนังสือบอกเลิกสัญญา น่าจะไม่น้อยกว่า 6 สัญญาที่ต้องยกเลิกทันที และจะดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนพัสดุ ในการที่จะเวียนชื่อเป็นผู้ทิ้งงานต่อไป

“ในการยกเลิกสัญญา ทางกรมโยธาฯ มีอีกมาตรการหนึ่งคือการแบล็กลิสต์ คือคนที่ทำงานล่าช้า และเกิดความเดือดร้อนแบบนี้ จะเวียนชื่อเลยว่าผู้รับเหมารายนี้ ห้ามไปประมูลงานของกรมโยธาธิการและผังเมืองอีก ซึ่ง 2 บริษัทที่ทำงานในเมืองกาฬสินธุ์นี้ ถูกเวียนชื่อมาหลายเดือนแล้ว เขาจะรับงานในปี 66 ที่ผ่านมาไม่ได้เลย และจะไม่ได้ต่อไป เพราะว่าลักษณะการทำงานแบบบี้ เป็นมาตรการกลางที่กรมโยธาฯ ออกมาตรการเหล่านี้คุมทั่วประเทศ แน่นอนเป็นสิ่งที่กรมโยธาฯ ตระหนักอยู่ตลอดเวลา ว่าการก่อสร้างที่มันไม่เรียบร้อย สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนจะต้องยกเลิก เพื่อเร่งให้ดำเนินการก่อสร้าง และจะได้แก้ไขเยียวยาให้เร็วที่สุด“

นายพงศ์รัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการเยียวยาทางแพ่ง กรณีเกิดผลกระทบกับชาวบ้านในชุมชนที่มีการก่อสร้างเกิดขึ้นนั้น แยกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนหนึ่งเป็นความเสียหายที่ผู้รับจ้างรายเดิมเข้าไปขุดเพื่อวางท่อ ทำให้ผนัง กำแพง บ้านร้าว ทรุดพัง ส่วนนี้กรมโยธาฯ จะลงไปสำรวจและรวบรวมข้อมูลความเดือดร้อนเสียหายต่างๆ เพื่อเรียกค่าเสียหายจากผู้รับจ้างรายดังกล่าว ซึ่งเป็นหน้าที่ของทางกรมโยธาฯ จะเป็นฝ่ายทำแทนชาวบ้านเอง ชาวบ้านไม่ต้องไปร้องขอ ส่วนที่ 2 เรื่องหนี้สิน หรือการเชื่ออาหาร ข้าวของเครื่องใช้กับร้านค้า กรมโยธาฯ จะมอบหมายทางจังหวัด ในการใช้กลไกในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค และกลไกของศูนย์ดำรงธรรม ในการเจรจาไกล่เกลี่ยกับทางคู่กรณี เพื่อที่จะทวงหนี้และชดใช้กันไป ซึ่งเป็นอีก 2 มาตรการที่จะดำเนินการได้ต่อไป