ขณะเดียวกันเป็นโอกาสดีแก่เหล่าลูกจ้างและพนักงานได้ออกมาส่งเสียงเรียกร้อง สะท้อนปัญหาต่างๆ ให้สังคมและรัฐบาลได้รับรู้เพื่อนำไปสู่การแก้ไข

หนึ่งในข้อเรียกร้องของบรรดาองค์กรแรงงานพยายามผลักดันและนำเสนอต่อรัฐบาลทุกยุคอย่างต่อเนื่องทุกปีซึ่งรวมถึงใน ปี 2567 คือขอให้ รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง

สำหรับ อนุสัญญาฯ ฉบับที่ 87 มีสาระสำคัญที่ให้ ลูกจ้างสามารถรวมตัวได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากรัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่แทรกแซงหรือจำกัดสิทธิในการทำกิจกรรมของลูกจ้างและนายจ้าง รวมถึงองค์กรหรือสหภาพมีเสรีภาพในการร่วมองค์กรใดๆ ทั้งในและต่างประเทศ ส่วน อนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 จะ คุ้มครองลูกจ้างจากการถูกเลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน อีกทั้งองค์กรลูกจ้างและนายจ้างต้องได้รับการคุ้มครองจากการแทรกแซงระหว่างกัน และส่งเสริมให้ใช้การเจรจาโดยสมัครใจ ทั้งนายจ้างหรือองค์กรนายจ้าง กับองค์กรคนงาน

แม้สิ่งเหล่านี้ถือเป็นหลักประกันคุ้มครองสิทธิต่างๆ ของแรงงานทุกเชื้อชาติ รวมถึงจะช่วยลดปัญหาของนายจ้างในเรื่องแรงงานสัมพันธ์ และสร้างช่องทางการพูดคุยกันด้วยเหตุผลระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ตลอดจนส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของไทย แต่ก็ถูกมองว่าอาจกระทบกับความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากการเปิดช่องให้แรงงานข้ามชาติรวมตัวเรียกร้องต่างๆ หรือตั้งสหภาพในบ้านเราซึ่งอาจส่งผลต่างๆ ตามมา

ทำให้รัฐบาลชุดต่างๆ แขวนเรื่องการให้สัตยาบันนี้ไว้นานกว่า 30 ปี ซึ่งส่งผลเสียต่อไทย อย่างเช่นการที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเคยใช้เป็นข้ออ้าง ตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรสินค้า (จีเอสพี) กระทบกับการส่งออกสินค้าและเศรษฐกิจไทย

แต่เรื่องดังกล่าวเริ่มมีความหวังว่าจะเกิดได้จริงในยุค รัฐบาลของ “เศรษฐา ทวีสิน” โดย “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.แรงงาน ประกาศ ผลักดันการเข้าร่วมอนุสัญญาฯ ทั้ง 2 ฉบับให้ได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ เพราะเล็งเห็นว่าเสรีภาพและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวเป็นเรื่องสำคัญต่อสวัสดิภาพของแรงงาน ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ร่วมมือกับ ไอแอลโอ และหลายๆ ฝ่ายศึกษาทุกแง่มุม และหารือถึงแนวทางดำเนินการให้สัตยาบันดังกล่าวอย่างรอบคอบที่สุด

หากรัฐบาลชุดนี้ดำเนินการได้สำเร็จ จะส่งผลดีต่อบรรดาลูกจ้างชาวไทยและคนชาติอื่นๆ ให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมกับลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แถมอุดช่องโหว่ไม่ให้ไทยตกอยู่ในเกมกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ

ที่สำคัญจะได้ใจ ได้คะแนนเสียงจากพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศหนุนรัฐบาลให้อยู่อีกยาว.