เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ห้องประชุมแม่กลอง ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม อ.เมืองสมุทรสงคราม จ.สมุทรสงคราม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามการขับเคลื่อนและมอบแนวทางการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีนายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายชยชัย แสงอินทร์ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายวสันต์ สุภาภา รองอธิบดีกรมที่ดิน นายสุวิทย์ พันธุ์เสงี่ยม ผู้ตรวจราชการ กรมโยธาธิการและผังเมือง นายพุทธพงษ์ สุริยะสิงห์ ผู้อำนวยการกองคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม

โอกาสนี้ นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม นายกรกฎ วงษ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม นายรนัสถ์ชัย พุ่มเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม นายอรรถพันธุ์ สงวนเสริมศรี ปลัดจังหวัดสมุทรสงคราม นางสาวประภารัตน์ นาคผจญ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ นายอำเภอ และข้าราชการระดับผู้อำนวยการกลุ่มงานหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามที่ได้ให้การต้อนรับและอำนวยการในการลงพื้นที่ตรวจราชการและพบปะให้กำลังใจพร้อมมอบแนวทางการทำงานให้กับพี่น้องข้าราชการที่จังหวัดสมุทรสงครามในวันนี้ ซึ่งทุกการประชุมตนมักจะเน้นย้ำกับคนมหาดไทยอยู่เสมอ ต้องปลุกเร้าจิตใจของพวกเราทุกคนให้มี “Passion” และมีอุดมการณ์ในการทำหน้าที่เป็นผู้นำ “การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” โดยน้อมนำหลักการทรงงานแบบ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระองค์ทรงเป็นนักวิจัยด้วยการเสด็จพระราชดำเนินลงพื้นที่ไปค้นหาและรวบรวมข้อมูลอย่างใกล้ชิดกับพสกนิกรด้วยพระองค์เองตลอด 70 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ จนเกิดเป็นภาพติดตรึงใจเราทุกคน โดยเฉพาะพระบรมฉายาลักษณ์ที่พระหัตถ์ข้างหนึ่งทรงถือปากกาจดบันทึก อีกพระหัตถ์อีกข้างหนึ่งทรงถือแผนที่ และที่พระศอทรงสะพายกล้องถ่ายรูป และทรงมีพระราชปฏิสันถารกับชาวบ้าน เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลวิจัย เพื่อค้นหาแนวทางการแก้ไขปัญหาตามหลักภูมิสังคม เช่นเดียวกับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา คือ “อริยสัจ 4” การค้นหาแนวทางการดับทุกข์ อันเป็นที่มาของโครงการพระราชดำริกว่า 4,741 โครงการ และทฤษฎีใหม่กว่า 40 ทฤษฎี ที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไพศาลกับประชาชนคนไทยทุกคน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานที่มุ่งมั่นแน่วแน่ในการ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ต่าง ๆ และพระราชทานแนวพระราชดำริ ในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนเสมอมา ซึ่งเป็นแนวทางที่ตรงกับพระโอวาทของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีของกระทรวงมหาดไทย ที่พระองค์ท่านทรงเพียรพยายามสอนพวกเราคนมหาดไทยทุกคนว่า นอกจากคนมหาดไทยต้องเป็นคนที่มีใจที่ยิ่งใหญ่โอบอ้อมอารี มีเมตตามีความรักในพี่น้องประชาชน ดั่งคำว่า มหทย หรือ มหาดไทย แล้ว ยังต้องมีแนวทางการทำงานแบบ “รองเท้าสึกก่อนก้นกางเกงขาด” เพื่อเป็นสิ่งย้ำเตือนใจให้คนมหาดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ใกล้ชิดกับประชาชน และนั่งอยู่ในหัวใจของประชาชน ด้วยการหมั่นลงพื้นที่เยี่ยมเยียน เพื่อให้รู้สารทุกข์สุขดิบและคิดวิธีการทำงานเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข พี่น้องประชาชน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำรัสองค์สำคัญแก่ข้าราชบริพาร เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 63 อันเปรียบเสมือนพระบรมราชโองการองค์ที่ 2 ที่พวกเราได้อัญเชิญไว้ทุกศาลากลางจังหวัดและที่ว่าการอำเภอ คือ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดที่เราทุกคนต้องยึดมั่น โดยเริ่มจากการ “แก้ไขสิ่งผิดในอดีตที่ผ่านมา” ทั้งวิธีการทำงานของคนมหาดไทยที่ต้องหมั่นลงพื้นที่ไปพบปะพูดเยี่ยมเยียนอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ดังพุทธศาสนสุภาษิต “วิสฺสาสปรมา ญาติ : ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง” ซึ่งเมื่อเราสนิทสนมคุ้นเคยจนเหมือนญาติของประชาชนแล้ว เราก็สามารถที่จะพูดคุย โน้มน้าวจิตใจพี่น้องประชาชนในการร่วมคิด ร่วมทำสิ่งที่ดีให้เกิดสัมฤทธิ์ผลได้ ซึ่งพระราชดำรัสองค์ดังกล่าวทุกประโยคล้วนแล้วแต่เป็นหลักคิดให้เราได้นำไปปฏิบัติ ดังนั้น หลักการทำงานที่สำคัญของผู้ว่าราชการจังหวัด คือ ต้องไปทำให้เกิดการบูรณาการในพื้นที่ ทั้ง “จังหวัด อำเภอ ตำบล บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ด้วยการบูรณาการคน บูรณาการงาน (One team Many function) ขับเคลื่อนงานตามหลักภูมิสังคม เช่น การส่งเสริมการปลูกต้นไม้ 5 ระดับ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ด้วยการค้นหาพื้นที่ต้นแบบและขยายผลให้ครอบคลุมทั้ง 3 อำเภอของจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งนอกจากจะเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 แล้ว ยังสร้างรายได้ให้กับประชาชน ควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตามผังภูมิสังคม (Geo Social Map)

“ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องทำให้คนมหาดไทยในพื้นที่แม่กลอง ได้ทำงานแบบ “รองเท้าขาดหลาย ๆ คู่” ต้องทำให้คนของจังหวัด อำเภอ ได้ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับชาวบ้าน ให้เกิดความรักใคร่ สนิทสนม คุ้นเคย เอื้ออาทร เป็นเสมือนญาติพี่น้องผู้ใกล้ ซึ่งการจะทำให้งานเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมได้ “ต้องมีใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ใจที่อยากทำให้ประชาชนมีความสุข ทั้งนี้ จุดแตกหักของการพัฒนาให้ประสบความสำเร็จในทุกนโยบายอยู่ที่หมู่บ้าน ต้องทำให้ทุกพื้นที่เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ด้วยการหมั่นลงตรวจติดตามการขับเคลื่อนในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ แบบไม่เป็นทางการ เพื่อกระตุ้นปลุกเร้าให้กำลังใจให้ทีมจังหวัด อำเภอ ตำบล บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนให้ช่วยกันทำให้เกิดสิ่งที่ดีตาม 8 ตัวชี้วัดของหมู่บ้านยั่งยืนที่ถือเป็นพื้นฐาน โดยการทำให้นายอำเภอและปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบประจำตำบล ได้ลงพื้นที่แสดงออกถึงผู้นำต้องทำก่อน พร้อมทั้งเก็บรวบรวมทำเป็นฐานข้อมูล เช่น Thai QM หนี้นอกระบบ เป็นต้น เพราะหมู่บ้านยั่งยืน คือ การแก้ไขปัญหาในทุกเรื่องทุกมิติ สอดคล้องกับเจตนารมณ์ 76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมาย SDGs อีกด้วย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้พวกเราทุกคนยึดหลักการทำงานแบบใกล้ชิดพี่น้องประชาชน ทำงานแบบบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำหลักการทรงงาน 4 กระบวนการ คือ “ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์” งานทุกงาน ทุกกระทรวง และทุกเรื่องในพื้นที่ ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติด การจัดระเบียบสังคม การดูแลเอกสารสิทธิ์ที่ดินของวัดและประชาชน การขยายผลธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ การทำระบบบำบัดน้ำเสียประจำครัวเรือน การขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ที่จะต้องขับเคลื่อนให้เกิดสิ่งที่ดีไปสู่พี่น้องประชาชน และขอให้คนมหาดไทยทุกคนมีจิตใจที่รุกรบ เข้มแข็งในการทำงานร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย โดยเอาใจในการทำงาน ไม่ได้ทำเพียงเพราะเป็นคำสั่ง แต่ต้อง “ทำด้วยหัวใจ” ของการเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพสกนิกรที่ดีของพระองค์ท่าน เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ช่วยกันทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และพี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนตลอดไปนอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม และหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ได้แก่ 1.การพัฒนาและบำรุงรักษาแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ด้วยการจัดกิจกรรมลงแขกลงคลองดาวดึงษ์ 2.โครงการชูธรรมนำชีวิต เสริมสร้างความดีงามให้กับประชาชน 3. โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน เฉลิมพระเกียรติ 4. โครงการออกโฉนดที่ดินให้กับวัดวาอาราม 5. โครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) 6. โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา และการขับเคลื่อนงานตามนโยบายกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ 1.การจัดระเบียบสังคมและสร้างความผาสุกให้กับประชาชนในพื้นที่ 2. โครงการธนาคารขยะ และการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน 3. การส่งเสริมสนับสนุนและฟื้นฟูการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมืองและจริยธรรมศึกษาของสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4.การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างคณะสงฆ์กับกระทรวงมหาดไทย 5. การแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) 6) การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง