นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายว่า ได้ประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 31 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 7-8 พ.ค. 67 โดยเบื้องต้นจะรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน ระยะ (เฟส) ที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กิโลเมตร (กม.) ให้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมฯ รับทราบ ซึ่งล่าสุดภาพรวมการก่อสร้างอยู่ที่ 32.31% ก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สัญญา จาก 14 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 10 สัญญา และรอลงนาม 2 สัญญา คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ในปี 71 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ของการดำเนินโครงการรถไฟไฮสปีดฯ เฟส 1 โดยเฉพาะการเวนคืนที่ดิน และการส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้รับจ้างเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียง 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. ซึ่งมีช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (กลุ่มซีพี) เอกชนคู่สัญญาโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อมสามสนามบินฯ ซึ่งแนวโน้มประมาณ 90% เอกชนจะสร้างโครงสร้างทับซ้อนดังกล่าวให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อย่างไรก็ตาม คาดว่าเรื่องการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อมสามสนามบินฯ จะจบในเร็วๆ นี้

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ส่วนสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. ในสัปดาห์นี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะเลขานุการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เตรียมเสนอรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment : HIA) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เชื่อมโยงกับสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ในโครงการรถไฟไฮสปีดฯ เฟสที่ 1 ไปยังองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส คาดว่าทางยูเนสโกจะใช้เวลาพิจารณา และทราบผลภายใน 2-3 เดือนหลังจากนี้

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการลงนามสัญญาที่ 4-5 ระหว่าง รฟท. กับบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ผู้รับจ้างสัญญาดังกล่าว ปัจจุบันเอกชนยังคงยืนราคาเดิม วงเงิน 10,325 ล้านบาท ส่วนจะลงนามสัญญาเมื่อใดนั้น คาดว่าเมื่อส่ง HIA ให้ทางยูเนสโกสักระยะ จะสอบถามไปทางยูเนสโกในเบื้องต้นว่า ยังมีเรื่องใดน่ากังวล หรือต้องเพิ่มเติมข้อมูลใดหรือไม่ หากไม่มีประเด็นใดก็จะลงนามสัญญากับเอกชนเลย และเมื่อมีการลงนามสัญญา รฟท. จะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ให้เอกชนได้ทันที เพื่อให้เริ่มงานก่อสร้างทางวิ่งไปก่อน และเว้นสถานีอยุธยาไว้สร้างทีหลัง 

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมฯ รับทราบว่า ประเทศไทยกำลังเร่งผลักดันโครงการฯ เฟสที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย เพื่อเชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว และจีนได้ คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 73 รวมถึงการพัฒนาสถานีรถไฟนาทา จังหวัดหนองคาย ให้เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน ขณะเดียวกันจะหารือเรื่องการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีรถไฟ และรถไฟความเร็วสูงจากต่างประเทศด้วย ซึ่งปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) ขึ้นเป็นหน่วยงานกลางสำหรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ทดสอบและรับรองชิ้นส่วน รวมทั้งสนับสนุนศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟความเร็วสูงที่สถานีเชียงรากน้อยแล้ว อยู่ระหว่างจัดทำร่างบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับ China State Railway Group Co., Ltd.