เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่รัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่วมกันว่า จะมีการนิรโทษกรรมการกระทำและการแสดงออกทั้งหลายที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง โดยมีคำนิยามว่ามูลเหตุทางการเมือง หมายถึงการกระทำอะไรบ้าง โดยจะนิรโทษกรรมตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนจะนิรโทษกรรมการกระทำอะไรบ้าง ที่ประชุมมีความเห็นชอบร่วมกันว่าการกระทำที่มีโทษนั้น ควรจะเป็นการกระทำที่อยู่ในบทนิยามคำว่า “มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง” ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ จะไปสรุปประเภทคดีว่ามีการกระทำอะไรตั้งแต่ 2548 จนถึงปัจจุบัน ที่อยู่ในข่ายมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ก็จะนำเข้ามาเป็นรายละเอียดพร้อมทั้งแยกแยะให้เห็น เนื่องจากการกระทำหลายอย่างดูแล้วไม่ใช่ และไม่อยู่ในข่ายที่เป็นมูลเหตุจูงใจทางการเมืองโดยตรง แต่การกระทำในทางกฎหมายที่เรียกว่าเป็นความผิดในหลายบท เช่น บางคนอาจจะโดนคดีหลักและมีคดีรอง เช่น คดีจราจรทางบก คดีนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ คดีเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นต้น

นายชูศักด์ กล่าวต่อว่า ทาง กมธ. จะแยกแยะการกระทำประเภทนี้ว่ามีการกระทำอะไรบ้างที่จะสมควรได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ ซึ่งบางเรื่องจะมีขอมติให้ขอนิรโทษกรรมไปเลย เพราะบางคดีเป็นความผิดที่ไม่รุนแรงนัก เช่น ความผิดพ่วง เป็นต้น นอกจากนั้นที่ประชุมยังมีมติขอขยายพิจารณาออกไปอีก 60 วัน แต่ กมธ. คงใช้ไม่เต็มทั้ง 60 วัน โดย กมธ. จะทำรายงานสรุปให้เสร็จก่อนเปิดสภาในครั้งหน้า ในเดือน ก.ค.

ส่วนมีคดีอะไรบ้างที่จะให้นิรโทษกรรม นายชูศักด์ กล่าวว่า เป็นคดีที่เราระบุเกิดตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันเกี่ยวกับเหตุการณ์ แต่ไม่ได้ระบุถึงประเภทคดีแบบเป็นรายคดีว่าหมายถึงการกระทำหรือคดีอะไรบางที่อยู่ในข่ายควรที่จะได้รับนิรโทษกรรม ซึ่งจะทำเป็นรายละเอียดไปเสนอให้กับคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ได้พิจารณาในชั้นรายละเอียด ส่วนจะเป็นคดีอะไรบ้าง เราจะทำเป็นรายละเอียดแนบเป็นรายงานเพิ่มเติมเข้าไป

“เราก็คิดว่าถ้ามีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองแล้ว ส่วนใหญ่ก็ต้องได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมด โดยไม่มีการแลกเปลี่ยนอะไร” นายชูศักดิ์ กล่าว

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 จะแยกไปเป็นอีกกรณีหนึ่ง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและมีความเห็นที่อาจจะยังไม่ตรงกันมาก เราจึงคิดว่าหน้าจะแยกออกมาเป็นการเฉพาะ เพื่อพิจารณาว่าเรามีมาตรการอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่ โดยจะไม่พิจารณาร่วมไปในเรื่องที่เราพูดกันไปแล้ว

จากนั้นนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฐานะ กมธ. ในซีกฝ่ายค้าน แถลงต่อว่า กมธ. จะใช้แนวทางตั้งคณะกรรมการพิจารณาคดีที่เข้าข่ายการนิรโทษกรรม แทนการออกกฎหมายกำหนดฐานความผิด ซึ่งรูปแบบของกรรมการนั้นจะพิจารณาอีกครั้งในรูปแบบที่มา และอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้รูปแบบของกรรมการฯ นั้น เคยมีตัวอย่างเกิดแล้ว ในช่วง พ.ศ. 2489 และปี 2499

“กระบวนการพิจารณาของกรรมการฯ นั้น พรรคก้าวไกลได้เสนอไว้ในร่างกฎหมาย เพราะมองว่าการนิรโทษกรรมใดๆ นั้น มีรายละเอียดที่พิจารณา อย่างไรก็ดี ข้อเสนอเรื่องตั้งกรรมการฯ นั้น ไม่ใช่โยนเรื่องให้องค์กรนอกสภา เพราะสามารถกำหนดที่มาของกรรมการโดยยึดโยงกับสภาได้ อีกทั้งกรณีดังกล่าว ไม่ใช่เพื่อทำให้เข้าทางพรรคก้าวไกล แต่เป็นข้อเสนอที่พิจารณาจากข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับสถานการณ์มากกว่า” นายชัยธวัช กล่าว

นายชัยธวัช ยังกล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้องส่วนตัวของตนเห็นว่า ในระหว่างที่ไม่มีกฎหมายนิรโทษกรรม ขอให้รัฐบาลใช้กลไกของฝ่ายบริหาร เพื่อให้สถานการณ์ความขัดแย้งดีขึ้น เช่น มีนโยบายที่ชัดเจนไปยังฝ่ายตำรวจ ไม่ให้ฟ้องคดีกับประชาชนที่แสดงออกทางกรเมือง และให้เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ใช่อำนาจนอกกฎหมายฟ้องร้อง หรือใช้กฎหมายที่เคร่งครัดจนตึงเกินไป รวมถึงใช้นโยบายคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง หรือในชั้นอัยการที่ยังไม่ส่งคดีขึ้นสู่ชั้นศาล ครม. สามารถมีมติส่งความเห็นไปยังอัยการได้ เพราะอัยการสามารถไม่สั่งฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงหรือเป็นคดีนโยบายได้ เป็นต้น.