จากกรณีเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 67 ทางไมโครซอฟท์ บริษัทยักษ์ใหญ่ไอทีระดับโลก โดย นายสัตยา นาเดลลา ประธานกรรมการบริหาร และซีอีโอ ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย พร้อมประกาศลงทุนตั้งดาต้า เซ็นเตอร์ระดับภูมิภาคในประเทศไทย

แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขการลงทุนจากไมโครซอฟท์ ไม่เหมือนกับที่เดินทางไปเยือนอินโดนีเซีย ประกาศลงทุน 1,700 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 63,000 ล้านบาท ในอีก 4 ปีข้างหน้า ในการสร้างศูนย์ข้อมูล เพื่อขยายบริการคลาวด์ และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) รวมถึงประเทศมาเลเซีย ได้ประกาศลงทุน 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 81,100 ล้านบาท ในด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ และคลาวด์คอมพิวติ้ง แต่ถือเป็นประโยชน์กับไทยอย่างมาก

ทำความรู้จักกับศูนย์ข้อมูล หรือ ดาต้า เซ็นเตอร์ (Data Center) คือ โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจยุคดิจิทัล เพื่อรองรับระบบฮาร์ดแวร์หรือเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่สำหรับจัดเก็บข้อมูลดิจิทัล เป็นศูนย์กลางการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลสำคัญขององค์กร รองรับการทำงานของระบบ เช่น ระบบการเงิน ระบบฐานข้อมูลลูกค้า เว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยการรวมศูนย์ทรัพยากรไอทีไว้ที่เดียว สะดวกในการจัดการและบำรุงรักษา

กิจการดาต้า เซ็นเตอร์ (Data Center) เป็นหนึ่งในกิจการโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคล 8 ปี ไม่จำกัดวงเงิน ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรวัตถุดิบเพื่อวิจัยและพัฒนา ยกเว้นอากรวัตถุดิบเพื่อผลิตส่งออก และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษี เป็นต้น

สำหรับประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการตั้ง ดาต้า เซ็นเตอร์ คือ
1.เป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางด้าน AI ของภูมิภาค
2.สร้างความพร้อมในการพัฒนาให้ไทยเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เช่น การทำให้มี Capacity ในการประมวลผลข้อมูลจาก Internet of Things
3.ดึงให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องขยายการผลิตในไทย เช่น ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (Hard Disk Drive)
4.สร้างงานเป็นจำนวนมากจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน
5.เกิดการพัฒนาความรู้ความสามารถของโลกอนาคตให้ประชาชนชาวไทย เช่น AI, Cloud Infrastructure (โครงสร้างพื้นฐานคลาวด์), Robotics (หุ่นยนต์)
6.สร้างดีมานด์มหาศาลให้เกิดการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และเกิดการใช้พลังงานที่ประเทศไทยผลิตเกิน ทำให้ค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้าลดลง
7.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้รัฐสามารถบูรณาการข้อมูลของรัฐ ทำให้รัฐให้บริการประชาชนได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการนำ AI มาช่วยให้การทำงานรวดเร็วขึ้น
8.ลดการซ้ำซ้อนของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ