ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ มีบทบาทหน้าที่หลักในการบริหารจัดการให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน

หน้าที่หลัก แบงก์ชาติ
การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ส่งผลต่อความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืนของประชาชนนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมถึง การบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศที่ดี ซึ่งตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน ดังนี้
1.ออกและจัดการธนบัตรและบัตรธนาคาร
2.กำหนดและดำเนินนโยบายการเงิน
3.บริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท.
4.เป็นนายธนาคารและนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล
5.เป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน
6.จัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน
7.กำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน
8.บริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงิน รวมทั้งบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตรา
9.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน

กำหนดและดำเนินนโยบายการเงิน
หน้าที่ของธนาคารกลางทุกแห่งคือ การกำหนดนโยบายการเงิน เพื่อสร้างระบบทางการเงินที่มีเสถียรภาพ รักษาระดับราคาของสินค้าและบริการไม่เปลี่ยนแปลงอย่างเร็วและมากจนเกินไป จนส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนได้

รักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
การรักษาความมั่นคงของระบบการเงินเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบการเงินที่มีเสถียรภาพจึงมีความสำคัญ เพราะหากขาดเสถียรภาพอาจสามารถลุกลามเป็นวิกฤติการเงิน (financial crisis) ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชน

กำกับระบบสถาบันการเงิน
กำหนดกลยุทธ์การพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และนโยบาย หลักเกณฑ์ รวมถึงกำกับตรวจสอบการดำเนินงาน และการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงิน เพื่อให้ระบบสถาบันการเงินมีประสิทธิภาพ ฐานะมั่นคง สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างมีเสถียรภาพ

บทบาทหน้าที่ของแบงก์ชาติคล้ายกับธนาคารกลางทั่วโลกที่ต้องดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เสถียรภาพภายในประเทศ การรักษามูลค่าของเงินบาทและสินทรัพย์ของคนไทยไม่ให้ด้อยค่าลงจากเงินเฟ้อ และดูแลไม่ให้เกิดฟองสบู่หรือจุดเปราะบางในระบบการเงินที่อาจจะนำไปสู่วิกฤติการเงินในอนาคต
เสถียรภาพด้านต่างประเทศ การดูแลค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหว สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ ไม่ผันผวนจนเกินไป รักษาอำนาจซื้อของเศรษฐกิจในตลาดโลก, รักษาระดับหนี้ต่างประเทศให้อยู่ในระดับต่ำ และมีเงินสำรองระหว่างประเทศเพียงพอ เป็นกันชนรองรับแรงปะทะจากความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนโลก

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย