ท่ามกลางกระแสข่าวความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและแบงก์ชาติ โดยเฉพาะ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี และ ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จนฝ่ายการเมือง ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามถึงการเป็นอิสระของแบงก์ชาติ

ในเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและตัวผู้ว่าการแบงก์ชาติ ไม่ใช่เพิ่งเคยเกิดขึ้น หากย้อนดูในอดีต ได้มีความขัดแย้งจนสั่งปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติมาแล้ว

อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ ใครบ้างเคยถูกรัฐบาลสั่งปลด?

โชติ คุณะเกษม

1. นายโชติ คุณะเกษม ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 9 ​ดำรงตำแหน่ง : 24 ก.ค. 2501-3 พ.ค. 2502​ ถูกปลดโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี สาเหตุเนื่องจากพัวพันกรณีจ้างต่างชาติพิมพ์ธนบัตร

นุกูล ประจวบเหมาะ

2. นายนุกูล ประจวบเหมาะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 13 ดำรงตำแหน่ง : 1 พ.ย. 2522-13 ก.ย. 2527​ ถูกปลดในสมัยนายสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ด้วยเหตุผลที่ว่า เนื่องจากนายนุกูล อยู่ในตำแหน่งมาครบ 4 ปีแล้ว จึงเห็นสมควรให้ผู้เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งสืบแทน

กำจร สถิรกุล

3. นายกำจร สถิรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 14 ดำรงตำแหน่ง : 14 ก.ย. 2527-5 มี.ค. 2533 ถูกปลดในสมัยนายประมวล สภาวสุ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สาเหตุเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล

4. ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือ หม่อมเต่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 19 ดำรงตำแหน่ง : 7 พ.ค. 2541-30 พ.ค. 2544​ ถูกปลดในสมัยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในยุคนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี สาเหตุคาดว่ามาจากความขัดแย้งนโยบายเรื่องค่าเงินบาท อัตราดอกเบี้ย และอื่นๆ ที่มีความเห็นไม่สอดคล้องกัน

มีเหตุผลอะไรบ้างถึงปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย?

ปัจจุบันกฎหมายแบงก์ชาติ ระบุถึงสาเหตุของการปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติไว้ว่า จะต้องพิสูจน์ได้ว่าประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง หรือทุจริตต่อหน้าที่ ทำให้การปลดตัวผู้ว่าการแบงก์ชาติ ทำได้ยากขึ้น และแตกต่างจากในอดีตค่อนข้างมาก

ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ฉบับปรับปรุงล่าสุด 2551 กรณีถูกปลด หรือพ้นจากตำแหน่งนอกเหนือจากกรณี ตาย ลาออก และขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามแล้ว คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรี เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่

นอกจากนี้ ยังให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรี หรือการเสนอของรัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ ซึ่งต้องแสดงเหตุผลอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม หากบุคคลที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มีความเห็นว่าการตัดสินดังกล่าว ไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.ธปท. กฎหมายฉบับนี้เปิดช่องให้สามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้ด้วย

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย